เผชิญหน้าความจริง เรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญา
ผู้ใหญ่อย่างเราจะเล่าประวัติศาสตร์หน้านี้ให้เด็กฟังกันไหม
หรือจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อไปเรื่อย ๆ?
ระหว่างที่รีวิวหนังสือเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสงครามมา 5 เล่ม
เราได้แตะ ๆ เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญามาบ้าง แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพราะหาหนังสือเด็กหัวข้อนี้ยากมาก
มันน่าเศร้าจริง ๆ นะ ที่มีหนังสือเด็กน้อยเล่มมากที่พูดถึงเรื่องนี้ เท่าที่เราเคยเห็นมา มีอยู่แค่ 2 เล่มเอง
เล่มหนึ่งเป็นหนังสือภาพแนว fiction ชื่อ The Unexpected Friend: A Rohingya Children's Story (2019) ของสนพ. Guba Books ซึ่งอยู่ในสหรัฐและบังกลาเทศ กับอีกเล่มนึง ชื่อ A Refugee's Journey from Myanmar (เรื่องเล่าผู้ลี้ภัย จาก เมียนมาร์, 2018) เป็นหนังสือสารคดีประกอบภาพ สำหรับเด็ก 9-12 ปี จากสนพ. Crabtree Publishing ในสหรัฐฯ เหมือนกัน
เนื่องจากว่า เราเข้าถึงได้แค่หนังสือเล่มสอง เราเลยจะรีวิวเพียงเล่มนี้เท่านั้นค่ะ
ทั้งนี้เราต้องขอบคุณเว็บ epic! (https://www.getepic.com/app) มาก ๆ เลยที่ทำให้เราเข้าถึงหนังสือเด็กเล่มนี้ได้
เรารู้จักเว็บนี้จากเพื่อนชาวไต้หวัน ที่เป็นคุณครูค่ะ นางใช้เว็บนี้กับนร. เป็นประจำ epic! เป็นหนึ่งในเว็บหนังสือออนไลน์สำหรับเด็ก ที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเตอร์เน็ตวันนี้
วันหลังเราจะทยอยรีวิวแพลตฟอร์มอ่าน + ขายหนังสือเด็กเจ๋ง ๆ ให้ทุกคนได้รู้จักกันนะคะ
เว็บ epic! เป็นแพลตฟอร์มที่เราใช้อ่านหนังสือเด็กเล่มนี้ค่ะ
ไข่ที่มุมซ้ายจะฟักเป็นตัวเมื่ออ่านหนังสือเล่มแรกจบ และกลายเป็นเพื่อนร่วมอ่านของเรานั่นเอง
โอเค กลับไปที่หนังสือของเราในวันนี้
A Refugee's Journey from Myanmar
เป็นหนึ่งในหนังสือสารคดีสำหรับเด็ก ชุด Leaving My Homeland แปลเป็นไทยก็คงประมาณ "จากบ้านจากเมือง" (ซึ่งปัจจุบันมี 16 เล่ม แต่ละเล่มเล่าถึงการลี้ภัยจากประเทศต่าง ๆ กัน) เขียนโดย Ellen Rodger นักเขียนซึ่งมีผลงานเขียนหนังสือสารคดีสำหรับเด็กมาแล้วหลายเล่ม ตั้งแต่แนวประวัติศาสตร์ การเมือง วิทยาศาสตร์ ยันการวางผังเมือง
ส่วนภาพประกอบนั้น หนังสือเล่มนี้ใช้ภาพถ่ายจริงจากหลาย ๆ แห่ง
เรื่องสุนทรียศาสตร์ การวางเลย์เอาต์ต่าง ๆ นี่อาจเทียบไม่ได้กับหนังสือหลาย ๆ เล่มนี่เราเคยรีวิวมา (หรือตั้งมาตรฐานเอาไว้) แต่ในรีวิวนี้ เราอยากให้ความสำคัญกับเนื้อหาและวิธีเล่าเรื่องเป็นหลัก เพราะเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา
- จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์นี้ เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรา
- ตั้งแต่ที่เกิดเรื่องมา สื่อประเทศเราแสดงความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาและท่าทีของเมียนมาร์ ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกและการรับมือปัญหาของคนไทยและรัฐบาลไทยของเราเอง
- เมื่อเร็ว ๆ นี้เบื้องหลังขบวนการค้ามนุษย์ (ชาวโรฮิงญา) ถูกเปิดโปง และกลายเป็นที่กล่าวขานกันทั้งในไทยและนานาประเทศ ทำให้หลาย ๆ คนเสียใจ และตั้งคำถามด้วยว่า สื่อหลายแหล่งในตอนนั้นที่ขยันนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาในลักษณะสร้างความเกลียดชัง ทำไมจึงไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นกระบอกเสียงแก่ผู้ลี้ภัย ให้มากกว่านี้?
(ดูการอภิปรายเรื่องการค้ามนุษย์ในรัฐสภา ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=msJk_Ph29ds
ดูสารคดีข่าวพล.ต.ต. ปวีณ โดยสำนักข่าวอัลจาซีรา ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=76hxGsXN2EI )
- คำถามคือ แล้วเมื่อไหร่ เราจะเริ่มเล่าเรื่องนี้ให้เด็ก ๆ ของเราฟัง?
หรือเราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกลืมไป ในรุ่นต่อ ๆ มา?
หน้านี้พูดถึงการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในเขตประเทศไทยด้วย
A Refugee's Journey from Myanmar
มีเทคนิคเล่าเรื่องแบบ เล่าประสบการณ์ผู้ลี้ภัยเด็กอายุ 10 ขวบ ชื่อ Syed 1 หน้าคู่ สลับกับให้ความรู้เรื่องบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าประเทศ สิทธิเด็ก สิทธิพลเมือง และการขอวีซ่า ไปเรื่อย ๆ มีหน้านึงพูดถึง การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย! (อ่านได้ในภาพใต้คอมเมนต์ค่ะ)
ส่วนตัวเราว่าวิธีนี้มันเวิร์กนะ เพราะเราอยากรู้เรื่องของเด็กชาย Syed ต่อเร็ว ๆ ว่าตกลงครอบครัวเขาหนีได้มั้ย ทุกคนรอดตายหรือเปล่า เรือจะล่มมั้ยหลังจากที่เรือผู้ลี้ภัยถูกทหารไทยยึดมอเตอร์เรือ แล้วผลักเรือให้ลอยออกไปไกลจากชายฝั่งไทย...
บางทีเราก็กระโดดข้ามหน้าที่เป็นคำอธิบายไปเลย 555 แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านอีกที
ซึ่งเอาจริง ๆ นักเขียนก็เรียบเรียงคำอธิบายได้ดีนะ เพราะมันโยงเข้ากับเรื่องเล่าของ Syed ด้วย เช่น หลังจากที่ Syed เล่าว่า เรือที่พ่อกับเขานั่งมา ถูกทหารไทยริบมอเตอร์และผลักออกจากฝั่ง พลิกหน้าถัดมา หนังสือก็ให้ข้อมูลเราเพิ่มเติมว่า การใช้ชีวิตของคนที่ "ไม่มีสิทธิพลเมือง" ในประเทศใด ๆ เลย เป็นอย่างไร "เชื้อชาติ" กับ "สัญชาติ" แตกต่างกันอย่างไร
ตอนที่ Syed ขึ้นฝั่งที่อินโดนีเซียและได้รับการช่วยเหลือจากอาสาสมัครจากค่ายลี้ภัยชั่วคราว หน้าถัดมาก็มีคำอธิบายว่า ทำไมผู้ลี้ภัยซึ่งอยู่ในสถานะ ไร้รัฐ (stateless) จึงไม่สามารถลงหลักปักฐานที่ใดได้สักที แล้วการที่จะต้องหนีไปเรื่อย ๆ แบบนี้ส่งผลกับพวกเขาอย่างไร
Syed เล่าว่าเรือของเขาถูกผลักออกไปไกลจากชายฝั่งไทย
เราขอไม่สปอยล์เรื่องแล้วกันค่ะ
ขอบอกแค่ว่า อ่านแล้วมันปวดใจก็พอ...
อย่างไรก็ตาม เรื่องของ Syed และเด็กคนอื่น ๆ ในหนังสือชุดนี้นั้นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น จากการเอาคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัย (จากประเทศนั้น ๆ) หลาย ๆ คนมารวมกัน (บรรณาธิการได้ชี้แจงไว้ในเล่ม)
Dr. Suzanne Pierson ผู้เขียนรีวิวหนังสือชุดนี้ในวารสารรีวิวหนังสือเด็ก Canadian Review of Materials ของแคนาดา ยกให้หนังสือชุด Leaving My Homeland เป็นหนังสือที่ครูและห้องสมุดต่าง ๆ ควรสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่าน เพราะการฟังคำบอกเล่าจากผู้ลี้ภัยโดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่ได้หาอ่านได้ง่าย ๆ ในหนังสือเด็ก (หรือแม้แต่สื่อของผู้ใหญ่เอง...)
เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจสถานการณ์ ความยากลำบาก และความอยุติธรรมที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเผชิญมาแล้ว พวกเขาก็น่าจะรู้สึกเห็นใจผู้ลี้ภัย และแสดงออกเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากขึ้น
ท้ายเล่ม ผู้เขียนได้ให้คำแนะนำเด็ก ๆ ว่าจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างไร (เช่น ศึกษาเรื่องของพวกเขาให้มากขึ้น เล่าเรื่องที่อ่านมาให้เพื่อน ๆ ฟัง ฯลฯ) และมีภาคผนวก อธิบายคำศัพท์ยาก ๆ เกี่ยวกับประเด็นการลี้ภัย และแนะนำแหล่งความรู้อื่น ๆ ที่เด็กจะไปศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วย
นอกจากนี้ สนพ. ก็ยังจัดทำคู่มือการสอนให้ครูและผู้ปกครองด้วย
(จิ้มดูได้ ที่นี่)
ท้ายเล่มสรุปวิธีช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในแบบที่เด็ก ๆ ทำได้ อย่างแรกคือ "เอดูเขต" (educate) ตัวเองซะ...
ใด ๆ ก็ตาม
สำหรับหนังสือเล่มนี้ เราติดใจแค่เรื่องภาพประกอบ ที่ไม่แน่ใจว่า accurate แค่ไหน กับเลย์เอาต์ที่ไม่ค่อยมีสุนทรียภาพเท่าไหร่...
ส่วนเรื่องเนื้อหา เราเข้าใจว่าเพราะหนังสือมุ่งสื่อสารกับเด็กประถมปลาย ผู้เขียนเลยตัดประวัติศาสตร์ส่วนซับซ้อนออกไปค่อนข้างเยอะ เช่น
ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังโรฮิงญากับกองทัพเมียนมาร์
และเรื่องที่ว่า การขับไล่โรฮิงญาจากเมียนมาร์ไม่ได้แค่มาจากประเด็นทางศาสนาอย่างเดียว (เพราะคนมุสลิมอื่น ๆ ในเมียนมาร์ไม่ได้ถูกไล่ไปด้วย) แต่มีเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงล่าอาณานิคม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การพยายามควบรวมอำนาจของกองทัพ ทฤษฎีการช่วงชิงทรัพยากร ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้องปนเปเต็มไปหมดด้วย
ซึ่งพอคิดรวม ๆ แล้ว...
เราว่ามันก็ยังโอเคอยู่อ่ะนะ ถ้าโรงเรียนจะเริ่มแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เด็ก ๆ อ่าน
แล้วนำเข้าสู่กิจกรรมค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เด็ก ๆ ก็อาจจะได้รู้ข่าวเรื่องผู้นำทหารเมียนมาร์ยึดอำนาจ
การประท้วงของประชาชนเมียนมาร์ และการอพยพลี้ภัยอีกระลอกด้วย
แล้วสนพ. ไทย ผู้ใหญ่ไทยล่ะคะ พร้อมเล่าเรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ให้เด็ก ๆ ฟังหรือยัง
แล้วจะเล่าเรื่องอะไรบ้างคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง
コメント