top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

ภาพโป๊แบบไหนควรอยู่ในหนังสือเด็ก?

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

⚠️ ระวังภาพ 18+ (เหรอ!)

หนังสือเด็กไม่ควรมีเรื่องเพศ ภาพโป๊เปลือย เพราะผิดศีลธรรมอันดี?

แล้วเมื่อไหร่เด็กไทยจะพร้อมทำความเข้าใจเรื่องร่างกายและเพศล่ะ?



ใครผ่านมาเห็นภาพหนังสือเด็กเต็มไปด้วยภาพโป๊แบบนี้แล้วก็อาจต้องยกมือทาบอกแล้วร้อง อุ๊ตะ เบา ๆ นี่มันหนังสือ 0+ หรือ 18+ กันแน่!?


...คำตอบคือ หนังสือเด็ก สำหรับคนทุกวัยค่ะ

ในลิสต์ที่เราเลือกมารีวิวนี้ มีตั้งแต่หนังสือบอร์ดบุ๊กสำหรับอ่านให้เด็กเบบี๋ฟัง หนังสือภาพสำหรับ 3-6 หนังสือภาพสำหรับ 6-9 ไปจนถึงหนังสือประกอบภาพ สำหรับ 10-12 ขวบเป็นต้นไป

ในประเทศไทย หลายคนอาจมองว่า การนำหนังสือภาพที่แสดงความโป๊เปลือยของมนุษย์เราไปวางขายในร้าน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่เหมาะกับเด็ก (ขณะที่หนังสือนิตยสารผู้ใหญ่มีรูปวับ ๆ แวม ๆ ก็ตั้งอยู่ร้านเดียวกัน ไม่ได้ไกลตาไกลมือเด็กอะไรเลย) แต่สำหรับประเทศแถบยุโรป (ยกเว้นสหราชอาณาจักรไว้สักที่นึง) ผู้ใหญ่ส่วนมากค่อนข้างเปิดกว้างและให้ความสำคัญกับหนังสือเด็กที่โชว์เรือนร่างแท้จริงของคน เพราะเขามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องร่างกาย เพศศึกษา และการเคารพสิทธิในร่างกายของตัวเองและคนอื่นค่ะ


ภาพจากหนังสือบอร์ดบุ๊กสำหรับเบบี๋เรื่อง "หนูรักนมแม่" โชว์รูปหน้าอกหลากหลายแบบ


[[ หนังสือเด็กกับเรื่องร่างกาย ]]


หนึ่งในหัวข้อคลาสสิกของหนังสือเด็กก็คือเรื่องร่างกาย ถ้าเราลองสังเกตบนชั้นวางหนังสือตามร้านต่าง ๆ เราก็มักจะเจอหนังสือเด็กเล็กที่สอนคำศัพท์ชุดแรก ๆ ให้เด็ก ๆ และหนึ่งในชุดคำศัพท์เหล่านั้น ก็คือ อวัยวะ เช่น ตา หู จมูก ปาก หัว ตัว มือ เท้า เป็นต้น และคำกริยาว่าอวัยวะนั้น ๆ ใช้ทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ดู ฟัง ดม กิน หอม กอด ฯลฯ


เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นมาอีกหน่อย หัวข้อก็อาจจะเปลี่ยนไปพูดถึงการรับผิดชอบต่อร่างกายตัวเอง หมั่นดูแลร่างกายตัวเองให้สะอาดสะอ้าน ปลอดโรค หนังสือแนวนี้ก็เช่น หนังสือเกี่ยวกับการอาบน้ำ ไปหาหมอ ปลอบขวัญเด็ก ๆ ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เตือนให้รักษาสุขภาพ ระมัดระวังอุบัติเหตุ


พอเด็กเริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม (ช่วงกำลังจะเข้ารร. อนุบาล) หนังสือเด็กตอบสนองพัฒนาการขั้นนี้ ด้วยการให้ความรู้เด็ก ๆ เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว อิจฉา ไปจนถึงให้ข้อมูลว่า เวลาเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้น เด็ก ๆ ควรจัดการอารมณ์ตัวเองอย่างไร และที่แอดวานซ์ขึ้นไปอีกคือ ช่วยคนอื่นที่กำลังเป็นทุกข์อยู่ มีความสุขขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ และความรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อเด็กโตขึ้นไป


หนังสือเด็กแนวนี้ก็เช่น หนังสือกลุ่ม SEL (Social-Emotional Learning) และ EF (Executive Functions) ซึ่งผสมผสานความรู้เกี่ยวกับ "ธรรมชาติของร่างกาย" และ "การใช้ร่างกาย" โดยคำนึงถึงสุขภาพกาย-ใจของตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย



ภาพจากหนังสือภาพตลก ๆ เรื่อง "มีก้นทุกหนแห่ง"

บอกเด็ก ๆ ผ่านภาพว่า ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศของผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมชาติ


[[ ค่านิยมเกี่ยวกับร่างกายที่มาพร้อมหนังสือเด็ก ]]


นอกจากจะสอนคำศัพท์เกี่ยวกับร่างกาย อารมณ์ และการใช้ร่างกายแล้ว หนังสือ+สื่อที่เด็กเข้าถึงได้ทั้งหลายยังสอดแทรกค่านิยมต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกายลงไปด้วย แม้ประเด็นหลักของหนังสือ/สื่อนั้นจะไม่ได้เกี่ยวกับร่างกายเลยก็ตาม


เช่น การที่หนังสือจำนวนมาก สื่อว่าร่างกาย "ปกติ" "มีความสุข" "แข็งแรง" = ร่างกาย "ครบ 32" "ว่องไว" "ฉลาด" "หุ่นนักกีฬา" "อายุน้อย" ทำให้ความเข้าใจในเรื่อง "ร่างกายที่ปกติและมีความสุข" ถูกจำกัดอยู่เพียงร่างกายที่อ่อนเยาว์และมีลักษณะตามอุดมคติ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเติบโตมากังวลกับร่างกายที่ไม่ตรงตามค่านิยมของสังคม


ในสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ การที่ตัวละครในหนังสือส่วนใหญ่ มีรูปร่างหน้าตาสะท้อนถึงกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ในสังคม รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง หรือไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกการอ่าน วรรณกรรม และโรงเรียน กระทบต่อความสำเร็จเชิงวิชาการและอาชีพของเด็ก ๆ ในอนาคต (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)



ภาพจากหนังสือสารคดีวัยรุ่น "คัมภีร์สีรุ้ง" เล่าเรื่องของคนดังผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศนอกกรอบสังคม


การเสนอภาพเกี่ยวกับร่างกายในหนังสือเด็กยังเกี่ยวพันกับค่านิยมและกฎกติกาทางสังคมในเรื่องเพศด้วย เช่น งานวิจัยหลาย ๆ งานพบว่า หนังสือเด็กหลาย ๆ เล่ม สะท้อนภาพผู้หญิงผู้ชายพิมพ์นิยม โดยตัวละครหญิงมักจะอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ส่วนตัวละครชายหาเลี้ยงครอบครัว กล้าผจญภัย มีทักษะอาชีพหลากหลาย ซึ่งอาจทำให้เด็กผู้หญิงเห็นความเป็นไปได้ที่จำกัดในชีวิต ขณะที่เด็กผู้ชายก็เติบโตไปมองผู้หญิงว่า ไม่มีความสามารถในการทำงานเท่าเทียมผู้ชาย หรือคิดว่า "พ่อ" ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกหรือทำงานบ้าน (Kolbe&La Voie, 1981; Hamilton et al, 2006; Adams et al, 2011; Crabb&Marciano, 2011)


ค่านิยมเหล่านี้ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงค่านิยมเรื่องครอบครัว การสมรส และความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางเพศและสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ/เพศสภาวะด้วย เช่น

- การสมรสเป็นไปได้เฉพาะระหว่าง "ผู้หญิง" กับ "ผู้ชาย" (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

- ผู้หญิงต้องรักษาพรหมจรรย์ ผู้ชายจะยังไงก็ได้

- ผู้หญิงต้องปกป้องตัวเองจากการถูกคุกคามด้วยการ "ไม่ทำตัวยั่วยวน"

- ไม่ควรพูดถึงเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา

- มองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องสกปรก

- มองว่าการให้นมบุตรในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอาย

ฯลฯ


หนังสือธีมร่างกายและเพศที่ Children's Books Out There ภูมิใจนำเสนอ


หนังสือที่เราคัดมา 7เล่มด้านบนนี้ เป็นหนังสือที่ไม่เพียงแต่จะให้ความรู้เด็ก ๆ เรื่องร่างกาย อารมณ์ และสังคมเท่านั้น แต่ยังนำเสนอแง่คิด และปลูกฝังค่านิยมที่ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจกับร่างกายของตัวเอง ให้เกียรติร่างกายของผู้อื่น เข้าใจธรรมชาติของร่างกายและเพศของมนุษย์เรา และยังตระหนักถึงปัญหาเชิงสังคม-วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับร่างกาย/เพศด้วย

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ใครสนใจ คลิกอ่านได้ที่นี่เลยค่ะ


ส่วนใครเคยอ่านหนังสือเด็กธีมร่างกาย + เพศ เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ

เล่มไหนดี เล่มไหนน่าโดน ชี้เป้ามาให้เรารีวิวได้เลย



บทความนี้พิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง

McCabe J, Fairchild E, Grauerholz L, Pescosolido BA, Tope D. Gender in twentieth-century children's books: Patterns of disparity in titles and central characters. Gender & society. 2011;25(2):197-226.


Hamilton MC, Anderson D, Broaddus M, Young K. Gender stereotyping and under-representation of female characters in 200 popular children's picture books: A twenty-first century update. Sex roles. 2006;55(11):757-65.


Kolbe R, La Voie JC. Sex-role stereotyping in preschool children's picture books. Social Psychology Quarterly. 1981:369-74.


Crabb PB, Marciano DL. Representations of material culture and gender in award-winning children's books: a 20-year follow-up. Journal of Research in Childhood Education. 2011;25(4):390-8.


Adams M, Walker C, O'Connell P. Invisible or involved fathers? A content analysis of representations of parenting in young children's picturebooks in the UK. Sex roles. 2011;65(3-4):259-70.

Comments


bottom of page