top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"ผ้าห่มของหนู" ห่มหัวใจให้แกร่งสู้กำแพงภาษา

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

หนังสือภาพที่เข้าถึงหัวใจเหงา ๆ ของต่างด้าวในเมืองใหม่...

ที่ไม่มีใครเข้าใจเราเลย (ว้อย!)


วันนี้เรายังอยู่กับธีมผู้ลี้ภัยและสงคราม

แต่เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเรื่องราวโทนอุ่น ๆ กันบ้าง


เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้เห็นโปสเตอร์ "ภาษาไทย" เขียนให้ "คนยูเครน" ที่ลี้ภัยเข้าประเทศอ่าน... ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มนี้ ที่เน้นให้ทุกคนเห็นว่า "ภาษา" สำคัญกับผู้ลี้ภัยอย่างไร ทั้งในแง่การสื่อสาร และความรู้สึกค่ะ



My Two Blankets (ผ้าห่มของหนู)

เป็นหนังสือจากออสเตรเลีย เขียนขึ้นเมื่อปี 2015 ช่วงที่มีผู้อพยพลี้ภัยไหลหลั่งเข้าสู่ออสเตรเลีย จากสงครามในซีเรีย อิรัก และเมียนมาร์... ใช่แล้ว วิกฤตการณ์ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่ไทยเราก็ผ่านมาเหมือนกันนั่นแหละค่ะ


หนังสือเล่มนี้ เขียนโดยคุณ Irena Kobald

วาดโดยคุณ Freya Blackwood

ตีพิมพ์กับสนพ. Little Hare, Hardie Grant Egmont

ได้รับรางวัลจาก Australian Book Council ให้เป็นหนังสือภาพแห่งปี 2015 (Picture Book of the Year) และเป็นหนังสือ 1 ใน 20 เล่ม ที่ห้องเรียนในออสเตรเลียต้องมี ปัจจุบันได้รับการแปลไปแล้ว 3 ภาษา และตีพิมพ์ใน 9 ประเทศค่ะ


My Two Blankets เล่าเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีฉายาว่า Cartwheel (จอมตีลังกา) เธอเคยอาศัยอยู่ในดินแดนห่างไกลที่เราไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน คุณป้าของ Cartwheel พาเธอหนีสงครามมายังประเทศใหม่

เมื่อมาถึง เด็กหญิงบรรยายว่า ประเทศนี้มีแต่อะไรแปลก ๆ ผู้คนแปลก ๆ ตึกแปลก ๆ อากาศแปลก กลิ่นแปลก แล้วก็ภาษาแปลก เธอรู้สึกว่าเสียงเซ็งแซ่ในภาษาที่เธอไม่รู้จักนั้นฟังแล้วเหมือนน้ำตกที่เย็นเยียบ ทำให้เธอหนาวและเหงาสุดขั้วหัวใจ

ความโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนมากมายที่ไม่ได้พูดภาษาของเรา



พอกลับมาบ้าน เด็กหญิงก็ได้แต่นอนซุกอยู่ในผ้าห่มผืนเก่าที่เธอนำติดตัวมาจากบ้านเกิดด้วย ผ้าห่มผืนนี้ก็เหมือนกับภาษาแม่ของเธอ ที่ทำให้เธอรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย


วันหนึ่งเธอพบกับเด็กอีกคนที่พูดภาษาที่เธอฟังไม่ออก เธออยากเป็นเพื่อนกับเด็กคนนั้น แต่ก็รู้สึกกลัวที่จะสื่อสาร

แต่เพื่อนใหม่ไม่ละความพยายามที่จะพูดคุยกับเธอ เด็กหญิงจึงค่อย ๆ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ ทีละเล็กละน้อย

ราวกับว่า เธอได้เริ่มถักทอผ้าห่มผืนใหม่ จากผ้าผืนเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขยายเป็นผ้าผืนใหญ่ที่นุ่มสบาย


ภาษาถิ่น แค่ได้ยินก็อุ่นใจ


หนังสือที่เขียนจากใจคนว้าเหว่

คุณ Irena ผู้เขียนบอกว่า เธอเขียนเรื่องนี้ขึ้นจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง คุณ Irena เกิดในประเทศออสเตรีย แต่เรียนจบสาขาภาษารัสเซีย ตอนเด็ก ๆ เธอต้องเดินทางไปในหลายประเทศ และเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย จนกระทั่งมาลงหลักปักฐานที่ประเทศออสเตรเลียตอนสาว ๆ เมื่อเรียนจบมาคุณ Irena ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ (ในฐานะภาษาที่สอง) ให้กับเด็ก ๆ ต่างชาติในหลายโรงเรียน ทำให้เธอเข้าใจความรู้สึกของเด็ก ๆ ที่ต้องเรียนภาษาใหม่ ๆ เป็นอย่างดี และอยากให้กำลังใจเด็ก ๆ เหล่านั้นค่ะ


แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือเด็ก แต่ความละเอียดอ่อน เข้าอกเข้าใจของผู้เขียน ต่อเรื่องการเรียนภาษาใหม่ การปรับตัวของผู้อพยพ และความรู้สึกโดดเดี่ยว ก็ทำให้เรื่อง My Two Blankets จับใจผู้ใหญ่หลาย ๆ คน และได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีสั้น ๆ ด้วยนะ (ดูตัวอย่างการแสดงจากคณะละครในสวีเดน ได้ที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=oo43L4TuMXg&t=167s )



ทักษะภาษางอกงามได้ ด้วยน้ำใจของเพื่อนใหม่ในต่างแดน


ภาษา... สื่อรักและความหวังดีต่อผู้ลี้ภัย

การให้บริการแปลภาษา นี่สำคัญกับผู้ลี้ภัยมากค่ะ ไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกับอย่างเดียว

แต่การได้คุยภาษาของตัวเอง บอกความต้องการของตนได้ ทำให้คนเรารู้สึกควบคุมชีวิตตัวเองได้บ้าง และรู้สึกปลอดภัย

นอกจากนี้ก็ยังทำให้คลายเหงาลงด้วย


ตอนที่สงครามในยูเครนเริ่มใหม่ ๆ ผู้คนในเดนมาร์ก (เมืองออฮุส ที่ตาลอยู่) ร่วมกันจัดตั้งกรุ๊ปประสานงานล่ามสำหรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนค่ะ คนยูเครน หรือคนที่พูดภาษายูเครนได้ และอาศัยอยู่ในเมืองออฮุสก็เข้ามาโพสต์เบอร์ติดต่อกันใหญ่เลย ขณะเดียวกัน ช่องโทรทัศน์แห่งชาติสำหรับเด็ก ก็ไปสัมภาษณ์เด็ก ๆ ยูเครนที่ลี้ภัยมาด้วย เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก ๆ ในประเทศค่ะ




แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ จำตอนที่เริ่มเรียนภาษาที่ 2 ใหม่ ๆ ได้หรือเปล่า รู้สึกกันอย่างไรบ้าง?

ใครเคยย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแล้วต้องเรียนภาษาใหม่ แชร์ประสบการณ์เข้ามากันนะคะ



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


ฟังการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่


อ้างอิง




Comments


bottom of page