top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

"ประท้วง!" ประวัติศาสตร์ของการอารยะขัดขืนตั้งแต่อียิปต์โบราณ - ปัจจุบัน

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ผู้คนแต่ละยุคสมัย ในแต่ละประเทศ

เขาประท้วงกันทำไม ใช้วิธีอะไร แล้วได้ผลยังไงบ้าง?

โรงเรียนไม่สอนว่า พลังของคนตัวเล็กตัวน้อยเปลี่ยนโลกได้อย่างไรใช่ไหม?

เดี๋ยวหนังสือเด็กจะเล่าให้ฟังเอง!



เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ


เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ ตาลได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านข่าวการเมืองหลาย ๆ ข่าวที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประท้วงในหลาย ๆ ประเทศ ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน และตามท้องถนนทั่วไป บางคนอาจคิดว่าการประท้วงเป็นเรื่องเสียเวลา สร้างความขัดแย้งให้สังคม แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า มาหาคำตอบกันค่ะ...


ที่ผ่านมามีหนังสือเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) นะคะ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อย...


ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าหนังสือเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง


หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องเริ่มที่เด็กและครอบครัวนี่แหละค่ะ!


โอเค บ่นเสร็จละ กลับเข้าโหมดรีวิว


 


รีวิวประวัติศาสตร์การประท้วงรอบโลกในเล่มเดียว

หนังสือวันนี้ชื่อยาวมากค่ะ ชื่อ Protest!: How People Have Come Together to Change the World Throughout History ขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ประวัติศาสตร์การประท้วง" แล้วกันค่ะ


"ประวัติศาสตร์การประท้วง" เขียนโดยคุณ Alice Haworth-Booth และวาดภาพประกอบโดยคุณ Emily Haworth-Booth สองศรีพี่น้องคู่นี้ เขียนหนังสือด้วยกันเป็นครั้งแรก แล้วก็ทำออกมาได้ดีมาก ๆ ด้วยค่ะ ปกติคุณ Emily วาดภาพประกอบหนังสือเด็กแนวสะท้อนสังคมอยู่แล้วนะ เช่น เรื่องพระราชาผู้สั่งห้ามความมืด (The King who Banned the Dark) และ ต้นไม้ต้นสุดท้าย (The Last Tree) แต่เล่มนี้ผ่ามายาว 168 หน้าเลย!



ถามว่าเป็นหนังสือเด็กหรือเปล่า?

ตาลขอประมาณการว่า เป็นหนังสือสำหรับประถมขึ้นไป ตอนแรกเรากะ ๆ ดูแล้วคิดว่าสำหรับไทยน่าจะเหมาะกับระดับประถมปลายขึ้นไป ผู้ใหญ่ก็อ่านได้อ่านดีนะ (น่าจะอินด้วย) แต่ทางสนพ. ที่ตีพิมพ์หนังสือเขาเห็นต่างค่ะ เขาว่า 7 ขวบก็อ่านได้แล้วนะ ซึ่งเอาจริง ๆ มันมีเด็ก 7 ขวบที่อ่านหนังสือยาว ๆ แบบนี้อยู่จริงนั่นแหละ หรือถ้ายังอ่านเองไม่คล่องแต่อยากรู้เรื่อง จะให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังก็ยังได้ เพราะภาษาในเล่มไม่ได้ยากเลย อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เรียบง่าย สนุก และสร้างแรงบันดาลใจได้ดีมาก ๆ แถมมีภาพประกอบทุกหน้าอีกต่างหากค่ะ


เอาเป็นว่า ถ้าเด็กบ้านไหนสนใจจะเริ่มอ่านตั้งแต่ 7 ขวบเลยก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไรนะ

เราต้องเชื่ือมั่นในเด็กของเราค่ะ!




เด็ก ๆ ในโลกแห่งการประท้วง

ในรอบ 15 ปีมานี้ เราได้เห็นการประท้วงตามท้องถนนกันอยู่เรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เด็กในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในต่างจังหวัด แม้แต่ในโรงเรียนก็มีการประท้วง กลับจากโรงเรียนมาก็เจอการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ต่อในทีวีหรือบนโลกออนไลน์ ดูเหมือนว่าระหว่างที่เติบโตมา เด็กไทยจะเห็นการประท้วงจนชินตาแล้ว (แต่จะเข้าใจที่มาที่ไปมากแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง)


การประท้วงไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็ก ๆ ในไทยเท่านั้น แต่เป็นธีมหลักในชีวิตเด็กทั่วโลกยุคนี้เลยค่ะ ดูอย่างแค่ในการประท้วงเรื่องโลกร้อนของเยาวชน ในช่วงปี 2018-2019 (ที่มีชื่อเรียกรวม ๆ กันว่า School Strike for Climate) แหล่งข่าวหลาย ๆ แห่งเคยประมาณการว่า รวม ๆ แล้วน่าจะมีเด็กเข้าร่วมมากถึง 1.6 ล้านคนจาก 125 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว นอกจากเรื่องโลกร้อนแล้ว เด็ก ๆ รอบโลกก็ยังมีส่วนร่วมประท้วงอะไรอีกหลายอย่าง เช่น เรื่องความเสมอภาคทางเพศ ความเสมอภาคทางการศึกษา ความปลอดภัยในชีวิต ความยากจน การเหยียดชาติพันธุ์ ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ฯลฯ


การประท้วงกฎหมายครอบครองอาวุธปืน

ที่เป็นเหตุให้เกิดการกราดยิงในโรงเรียนหลายครั้ง ในสหรัฐอเมริกา (2018)



นักเรียนในชิลีประท้วงค่าโดยสารขนส่งสาธารณะแพงเกินรับไหว (2019)



เยาวชนเมียนมาร์ชุมนุมประท้วงต่อต้านเผด็จการทหาร

ที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (2021)



เมื่อเราพูดถึง "การประท้วง" เดี๋ยวนี้หลาย ๆ คนเลยอาจนึกถึงภาพของเยาวชนที่หาญกล้าลุกขึ้นมาเดินขบวน มากกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส การประท้วงในหนังสือเด็กถูกนำเสนอออกมาในลักษณะของ "พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน" (Rite of Passage) จากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ เด็ก ๆ แต่ละรุ่นได้รับการสนับสนุนให้ขบถต่อผู้มาก่อน และยอมรับว่าเมื่อโตขึ้นก็จะถูกเด็ก ๆ รุ่นหลังท้าทายเช่นกัน (Beauvais, 2013) ขณะที่ในบางประเทศ การประท้วงถูกมองว่า ทำให้บ้านเมืองแตกแยก บ้างก็ว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่รักชาติ หัวรุนแรง หรือเป็นเทรนด์ของ "คนรุ่นใหม่" ที่ไม่เคารพ "กฎเกณฑ์/ระเบียบสังคม" (ที่กำหนดโดยผู้ที่มาก่อน) แต่จริง ๆ แล้ว การประท้วง ไม่ได้ เป็นเรื่องของแค่คนรุ่นใหม่วัยละอ่อน ไม่ได้เป็นเพิ่งเริ่มต้นแค่ยุคนี้ที่มีโซเชียลมีเดียเยอะแยะด้วยซ้ำ

แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไปถึงยุคอียิปต์โบราณเลยทีเดียว!


ไม่ว่าจะมนุษย์รุ่นไหน ที่ใด หากไม่พอใจต่อความอยุติธรรมแล้ว พวกเขาก็จะพยายามสรรหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไม่ย่อท้อ ขอแค่มีความหวังว่าเปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีขึ้นเท่านั้น

คนงานสร้างพีระมิดสุดจะทนกับสภาพการทำงานหนักแต่ได้อาหารน้อย

จึงพร้อมใจกัน "นั่งลง" จนกว่าจะได้พักและได้ข้าวพอ

กลายเป็นการประท้วงครั้งแรกในโลก (ที่มีการจดบันทึกไว้)



จุดเด่นของ "ประวัติศาสตร์การประท้วง"

เราคิดว่า คุณ Alice และ คุณ Emily สร้างผลงานหนังสือเล่มนี้ออกมาได้ดีมากทั้งการเล่าเรื่องและภาพประกอบเลย นี่อ่านไปรู้สึกฮึกเหิมสลับน้ำตาคลอ เป็นหนังสือในดวงใจเราในปีนี้เลยค่ะ ทรงพลังมาก อยากให้คนไทยได้อ่านเป็นภาษาไทยจริง ๆ นะ


ในแง่เนื้อหา หนังสือเล่มนี้เล่าเหตุการณ์การประท้วงต่าง ๆ ได้สั้นกระชับ (ประมาณเหตุการณ์ละ 2 หน้าจบ) ตรงไปตรงมา และไม่อ้อมค้อมเลยที่จะเล่าตอนจบแบบ bad end เพราะไม่ใช่ทุกการประท้วง จะจบลงด้วยความเปลี่ยนแปลง ทุกความขัดแย้งจะจบลงที่สันติภาพ การประท้วงหลายครั้งมีคนที่ต้องเสียสละ ถูกทำร้าย ทารุณ และถึงตาย นักเขียนเองแสดงออกว่าเข้าใจจุดนี้ดีและไม่พยายามจะปิดบัง แต่กลับชึ้ให้เราดูความอยุติธรรมชัด ๆ แม้จะไม่ใช้คำพูดรุนแรงอะไรเลย แต่อ่านแล้วเราก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเดือดดาลกับความเห็นแก่ตัว ความมีอคติของคนบางกลุ่ม ที่กดทับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


"ประวัติศาสตร์การประท้วง" แบ่งออกเป็น 12 บท บทละ 4 เหตุการณ์ เรียงตามลำดับเวลาจากอียิปต์โบราณมาจนถึงปี 2010s ท้ายบทแต่ละบทจะมีเรื่องสั้น ๆ ของการประท้วงทั่วโลกที่ใช้เทคนิคคล้าย ๆ กัน รวมทั้งเล่มแล้ว ก็มีการประท้วงประมาณ 70 เรื่องได้ค่ะ (ขอคารวะความรีเสิร์ชโหดในครั้งนี้...)



ท้ายบทแต่ละบทจะมีหน้าแถมเกี่ยวกับเทคนิคแบบต่าง ๆ ในการประท้วง

เช่น การสร้างเสียงแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ ระฆัง ดนตรีน่ารำคาญ ร็อค พังค์ แจ๊ซ ไปจนถึงไม่ใช้เสียงเลย



ส่วนในแง่ภาพประกอบนี่เราก็ขอกราบคนวาดจริง ๆ ค่ะ เพราะวาดมันทุกหน้า แต่ละเหตุการณ์ก็มีแพตเทิร์นต่างกันไป สอดรับกับเรื่องราว ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้นมาก ที่เราชอบมากอีกอย่างคือสีพิเศษชนพูส้มเรืองแสงแรงเกินต้าน เด่นตั้งแต่ปกยันเนื้อใน


ภาพประกอบในเหตุการณ์ประท้วงที่เป็นที่มาของ แมกนาคาตา (Magna Carta)

หรือกฎบัตรประกันสิทธิพลเมืองฉบับแรกของโลก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย


ภาพการประท้วงของเยาวชนในฮ่องกงกับร่มอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำการประท้วง



เราได้เล่มนี้มาอ่านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อ่านจบรวดเดียวในหนึ่งสัปดาห์แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันดีอ่ะ อยากให้คนไทยได้อ่านบ้างจัง ตอนนี้หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีแปลไทยนะคะ ต้องสั่งซื้อเป็นภาษาอังกฤษเอา ถ้าอยากฝึกภาษาอังกฤษก็ซื้อมาลองได้ อย่างที่บอก ภาษาค่อนข้างง่ายและรูปประโยคไม่ซับซ้อนค่ะ (แต่ราคามันค่อนข้างแรงอยู่เหมือนกันเพราะเป็นปกแข็ง)


แต่ถ้าอยากให้มีแปลไทย ก็ช่วยกันกด ❤️ ให้หนังสือเล่มนี้ และแชร์บทความต่อให้เพื่อน ๆ อ่านกันนะคะ เราเองก็อยากจะแปลให้เหมือนกัน หรือจะเปิดระดมทุนดี

เพื่อน ๆ นักอ่านคิดว่ายังไงบ้างคะ?


น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่พูดถึงการประท้วงของในไทยบ้างเลยนะ (แต่มีจีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกงแล้ว)

ถ้าเป็นไปได้เพื่อน ๆ อยากให้มีหนังสือพูดถึงการประท้วงไทยเหตุการณ์ไหนบ้าง

แชร์ไอเดียเข้ามากันนะคะ 😊



*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


อ้างอิง


ดู 81 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page