top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

"บันทึกของซลาตา" เสียงจากเด็ก ๆ ในไฟสงคราม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ไม่บ่อยนักที่งานเขียนของเด็ก ๆ จะได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่คนอ่านกันทั่วโลก

น่าเศร้า ที่งานเขียนเหล่านี้ หลายครั้งเป็นไดอารี่ของเด็ก ๆ ในสงคราม...



ในที่สุด เราก็มาถึงหนังสือเด็กธีมสงครามและผู้ลี้ภัย เล่มสุดท้ายของเซ็ตเสียที...

ช่างเป็นหนทางที่ยาวไกล แถมระหว่างเขียน ๆ อยู่ก็เจอหนังสือเจ๋ง ๆ เพิ่มขึ้นไปอีกต่างหาก เช่น หนังสือคอมิกแนวเกม ที่คนอ่านเลือกตอนจบได้หลายแบบ หนังสือบางเล่มก็มาแบบคำน้อยต่อยหนัก จบแบบจุก ๆ

ว่าแต่ไว้วันหลังค่อยย้อนกลับมารีวิวหนังสือธีมนี้เพิ่มแล้วกันค่ะ


หนังสือเด็กวันนี้มาแนวแปลกจากเล่มอื่น ๆ นิดหน่อยตรงที่เขียนโดยผู้ลี้ภัยเด็กเองแบบวันต่อวัน บางทีก็ประจำสองสามวัน เพราะเป็นไดอารี่ ไม่มีพล็อตเรื่อง ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องจะจบอย่างไรเหมือน ๆ กันกับผู้อ่าน เล่มอื่น ๆ ที่ผ่านมาจะสังเกตว่าผู้ใหญ่เขียนหมดเลย แต่ว่าก็ทำรีเสิร์ชกับเด็ก ๆ มาเยอะน่ะนะ


Zlata's Diary หรือ บันทึกของซลาตา เด็กหญิงจากซาราเยโว

เขียนโดย Zlata Filipović นักเขียนชาวบอสเนีย วัย 11 ปี ระหว่างที่อาศัยอยู่ในกรุงซาราเยโว สาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ช่วงสงครามบอสเนีย (6 เมษายน 1992 – 14 ธันวาคม1995)


ซลาตาเริ่มเขียนบันทึกฉบับนี้เป็นภาษาโครแอต ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 1991 จนถึงเดือนตุลาคม 1993 เธอส่งบันทึกให้กับคุณครู ผู้ส่งบันทึกต่อไปให้กับสนพ. เล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุงซาราเยโว ได้ตีพิมพ์


และแล้วนักเขียนเด็กคนนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ สื่อของบอสเนียเรียกเธอว่า "แอนน์ แฟรงก์แห่งซาราเยโว" ไม่นานนักเรื่องราวของเธอก็แพร่สะพัด นักข่าวจากนานาประเทศและรายการโทรทัศน์มากมาย ต่างแห่แหนกันมาสัมภาษณ์เธอถึงบ้าน ผู้คนในต่างแดนจึงได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของเด็ก ๆ ท่ามกลางสงครามอย่างซลาตา


บันทึกของซลาตา ถูกแปลมาแล้วหลายภาษา รวมถึงภาษาไทย โดยคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ (แปลจากภาษาฝรั่งเศส) โดย สำนักพิมพ์ สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ เชียงใหม่ เมื่อปี 1993 เราเองยังไม่เคยอ่านฉบับภาษาไทย ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่อ่านฉบับภาษาอังกฤษแล้วเศร้ามากค่ะ รูปแบบการเขียนไดอารี่แบบนี้มันทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของชีวิตท่ามกลางสงครามจริง ๆ เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละวัน


ในช่วงเดือนแรก บันทึกของซลาตามีแต่ความสดใส เธอตื่นเต้นที่จะได้ขึ้นป.5 และอยากเจอกับเพื่อน ๆใจจะขาด เธอเล่าเรื่องที่ไปงานปาร์ตี้วันเกิดบ้านเพื่อน กินพิซซ่า ดูโชว์ใน MTV ฟังเพลง Good Vibration สอบเลขผ่าน และเรื่องจิปาถะมากมายที่เธอบันทึกสั้น ๆ สองสามวันครั้ง


ตอนที่การต่อสู้เริ่มขึ้นในเมืองอื่น ๆ ของบอสเนีย ซลาตายังไม่ได้ใส่ใจกับมันมาก และคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่การรบจะลุกลามใหญ่โต แต่ยิ่งนานวัน เธอก็ยิ่งสังเกตเห็นว่าพ่อกับแม่คอยติดตามข่าวการรบที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างใกล้ชิด และเริ่มเขียนเกี่ยวกับสงครามมากขึ้น


ในบันทึกตั้งแต่ปลายปี 1991 เราจะเริ่มเห็นว่าซลาตาเริ่มตั้งคำถามว่า "การเมือง" คืออะไร แม้จะยังไม่ได้สนใจมากนักก็ตาม จนกระทั่งเดือนมีนาคม ปี 1992 เมื่อสงครามเข้ามาประชิดเมืองซาราเยโว บันทึกของซลาตาก็เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการประท้วง การสู้รบ และข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีพูดคุยของนักการเมืองในสื่อต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ อย่างซลาตาเองรับรู้และใส่ใจกับความเป็นไปของชุมชนรอบ ๆ ตัว และต้องการแสดงความคิดเห็นออกมาไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่เลย


เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ไม่มีภาพประกอบ ตาลจึงได้เลือกข้อความที่น่าสนใจจากหนังสือมาฝากทุกคนเช่นเคย ใครที่สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับสงครามบอสเนีย และเรื่องราวของซลาตาระหว่างและหลังสงครามก็คลิกดูที่ใต้ภาพได้นะคะ



ทำไมจึงเกิดสงครามในซาราเยโว ช่วง 1990s (เรื่องมันยาว...)

ซาราเยโวเป็นเมืองหลวง ของสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปทางตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบไปด้วย 10 ประเทศ คือ สโลเวเนีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เซอร์เบีย มอนเตเนโกร อัลเบเนีย มาซีโดเนีย กรีซ บัลกาเรีย และโรมาเนีย


พื้นที่นี้เป็นศูนย์รวมของคนชาวสลาฟใต้ (South Slavs)หลากหลายกลุ่ม หลัก ๆ คือชาวบอสนีแอก (Bosniaks) ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวเซิร์บ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และชาวโครแอต ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก


ชนชาติต่าง ๆ ในซาราเยโวเคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวรรติออตโตมัน (ศตวรรษที่ 15-17) ก่อนจะตกอยู่ท่ามกลางไฟสงครามและโรคระบาดกว่าร้อยปี จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ผู้คนในเซอร์เบีย (ชาวเซิร์บ) เริ่มคิดจะรวบรวมประเทศสลาวิกตอนใต้เข้าด้วยกัน และไล่ผู้นำออตโตมันออกไป


ทว่า หลังจากผู้นำออตโตมันถูกขับไล่ ราชวงศ์ฮับส์บูร์แห่งออสเตรีย-ฮังการี (ซึ่งเคยบุกซาราเยโวราบเป็นหน้ากลองในสงครามช่วงสิ้นศตวรรษที่ 17) ก็ขึ้นมาปกครองพื้นที่สลาฟใต้แทน สร้างความไม่พอใจแก่ชาวสลาฟใต้หลายคน นำมาสู่การลอบสังหารอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย และพระชายา ขณะประพาสเซอร์เบีย อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามจบลง กลุ่มชาตินิยมก็ก่อตั้งประเทศสลาวิกตอนใต้ได้สำเร็จ คือประเทศยูโกสลาเวีย (แปลว่า ประเทศของเซิร์บ โครแอต และสโลเวเนีย)


แม้ปัญหาระหว่างเชื้อชาติยังคงอยู่ และยิ่งบานปลายในสมัยสงครามโลกครั้งสอง แต่ยูโกสลาเวียก็ยังคงรวมกันเป็นประเทศได้อยู่ภายใต้การปกครองของ ยอซีป บรอซ ติโต ผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งหลังจากติโตถึงแก่กรรม ราว ๆ ต้นทศวรรษที่ 1990 ประเทศโครเอเชียและสโลเวเนียประกาศแยกตัวจากยูโกสลาเวีย บอสเนียจึงเริ่มลงประชามติแยกประเทศบ้าง


แต่ชาวเซิร์บในบอสเนียไม่เห็นด้วยกับผลประชามติให้แยกประเทศ ผู้นำกลุ่มชาวเซิร์บจึงนำกองกำลังยึดกรุงซาราเยโว (The Siege of Sarajevo) เมืองหลวงถูกระเบิดทุกหย่อมหญ้า น้ำไฟและเสบียงอาหารถูกตัดขาด การยึดเมืองกินเวลายาวนานถึง 1,425 ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 1992 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 1996 นับเป็นการยึดเมืองหลวงที่ยาวนานที่สุดในสงครามสมัยใหม่


มีคนตายเกือบ 14,000 คน เกือบครึ่งเป็นพลเรือน



หนีตายจากกรุงซาราเยโว

ซลาตาและพ่อแม่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากกรุงซาราเยโวที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกในปี 1993 พวกเขาลี้ภัยมายังปารีส ขณะนั้นนานาชาติยังลังเลที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยประชาชนซาราเยโว จนกระทั่งในปี 1995 เกิดระเบิดห้าจุดในตลาด Markale ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่าน คน 43 คนเสียชีวิตคาที่ และมีผู้บาดเจ็บอีกมาก


สองวันต่อมากองกำลัง NATO เริ่มโจมตีกองกำลังชาวเซิร์บในซาราเยโว ชาวโครแอตและบอสนีแอกก็จับมือกันสู้กับชาวเซิร์บ สามเดือนต่อมา ทุกฝ่ายในสงครามจึงได้เซ็นสัญญาสงบศึก


อย่างไรก็ตาม กรุงซาราเยโวได้ถูกแบ่งแยกเป็นที่เรียบร้อยจากประวัติศาสตร์ที่น่าเจ็บปวด บอสนีแอก เซิร์บ และโครแอตอยู่กันคนละส่วนของเมือง เด็ก ๆ ไปโรงเรียนที่แยกนักเรียนมุสลิมและคริสต์ออกจากกัน และการแต่งงานข้ามเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องที่คนในสังคมหลีกเลี่ยง



เขียนไดอารี่เยียวยาจิตใจ

ซลาตาและพ่อแม่ย้ายไปอยู่ที่ดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ในปี 1995 และเรียนต่อป. โท สาขา International Peace Studies (การศึกษาสันติภาพนานาชาติ) หลังจากที่ไดอารี่ของเธอได้รับการตีพิมพ์ ซลาตาเว้นว่างจากการเขียนบันทึกไปสักพัก และกลับมาเขียนใหม่เวลาที่เธอมีเรื่องไม่สบายใจ เธอกล่าวในบทนำของหนังสือ ว่าการเขียนไดอารี่ช่วยเยียวยาจิตใจของเธอในช่วงสงครามได้มาก การเขียนบันทึกส่วนตัวช่วยให้เธอได้คิดใคร่ครวญเหตุการณ์ต่าง ๆ และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอย่างอิสระ และรู้สึกควบคุมชีวิตได้บ้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่าง ๆ



เติบใหญ่เป็นหญิงยอดนักสู้

ทุกวันนี้ ซลาตายังคงเขียนหนังสือเกี่ยวกับสงครามในบอสเนียเพื่อเรียกร้องสันติภาพ

เธอทำหนังสั้นชื่อ Stand Up! เพื่อประกอบแคมเปญต่อต้านการรังแกนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในไอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ Amnesty International และเดินสายพูดคุยตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลก เกี่ยวกับชีวิตของเด็ก ๆ ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง


นอกจากนี้เธอเป็นโปรดิวเซอร์รายการสารคดีมากมาย เช่น OCD & Me (2016) When Women Won (2020) และ How to Tell a Secret (2022)

ภาพจาก: Twitter: @ZlataFilipovic



บันทึกของซลาตา ถูกหลายคนนำไปเทียบกับไดอารี่ของแอนน์ แฟรงก์ (The Diary of a Young Girl) ที่เขียนโดยเด็กหญิงชาวยิววัย 13 ปี ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เล่าถึงชีวิตประจำวันของเธอในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และจบลงที่ครอบครัวของเธอ รวมทั้งตัวเธอเองถูกจับได้ และส่งไปยังค่ายกักกันของนาซี


อย่างไรก็ตาม หลายคนตำหนิผู้ที่เปรียบเทียบและวิพากษ์วิจารณ์วรรณศิลป์ในไดอารี่ของเด็กทั้งสองคนว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะมันเป็นบันทึกส่วนตัวของเด็ก ๆ ที่เขียนขึ้น เพื่อชุบชูจิตใจตัวเองในช่วงเวลายากลำบาก ไม่ว่าจะถูกเขียนขึ้นมาแบบไหน บันทึกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในการสร้างความตระหนักในความสำคัญของสันติภาพทั้งสิ้น



บันทึกของเด็ก ๆ ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้งไม่ได้มีเพียงเท่านี้...

เมื่อปี 2017 สนพ. Simon & Schuster ได้ตีพิมพ์ 'Dear World' (โลกที่รัก) ซึ่งเป็นหนังสือเล่าเรื่องของ Bana Alabed วัย 7 ปี (บานาเขียนเอง โดยมีแม่และบ.ก. ช่วยแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ) ควบคู่ไปกับเรื่องราวการดิ้นร้นท่ามกลางสงคราม ที่เขียนโดยแม่ของเธอ และโพสต์ที่บานาพิมพ์ลงในทวิตเตอร์ตั้งแต่กันยายนปี 2016 เป็นต้นมาเพื่อเล่าเรื่องของเธอและเด็กคนอื่น ๆ ในสงครามซีเรีย (2011-ปัจจุบัน) ภายใต้แท็กทวิต #SaveAleppo


เรื่องเล่าอื่น ๆ จากปากคำของเหล่าเด็กหญิงผู้กล้าหาญ


หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย สนพ. นานมีบุ๊กส์ เป็นอีกเล่มที่เราอ่านไปน้ำตาไหลไป โดยเฉพาะตอนที่เพื่อนของบานาตาย และตอนที่เธอถูกพวกโทรลทวิตเตอร์ (ผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ชอบข่มขู่คุกคามรังแกผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนอื่น ๆ) ด่าทอและขู่ฆ่า... (หัวใจมันต้องทำจากอะไรถึงขู่ฆ่าเด็ก 7 ขวบได้อ่ะ พวกบ้าเอ๊ย)


หรือเมื่อปี 2013 ก็มีหนังสือที่ร่วมเขียนโดยเด็กอายุ 16 ปีในปากีสถาน เล่าถึงการต่อสู้ของเด็ก ๆ และผู้คนในประเทศ เพื่อต่อต้านกองกำลังตาลีบันที่ปิดโรงเรียนและห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ หนังสือเล่มนั้นชื่อ I Am Malala: The Girl Who Stood Up for Education and Was Shot by the Taliban ("มาลาลา ยูซัฟไซ" เด็กหญิงที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งการศึกษา และถูกตาลีบันยิงศีรษะ) เขียนโดย Malala Yousafzai และ Christina Lamb

เล่มนี้ก็มีแปลไทยแล้วเหมือนกันโดยคุณสหชน สากลทรรศน์ (เรายังไม่ได้อ่านภาษาไทยเช่นเคย)


ใครอ่านแล้วมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่




bottom of page