หลาย ๆ ประเทศ มองเด็กเป็นความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ
และเริ่มเตรียมพร้อมพวกเขาให้มีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่เล็ก ผ่านหนังสือเด็ก
แล้วไทยล่ะ จะห้ามเด็กไม่ให้ยุ่งเรื่องการเมืองไปถึงเมื่อไหร่?
*** คำแปลในบทความนี้ มาจากโพสต์ที่ตาลเขียนครั้งแรกในเพจ วันที่ 31 สิงหาคม ปี 2021 ตาลแปลเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือฉบับภาษาไทยนะคะ
หนังสือภาพสำหรับเด็ก... เด็กไปไหม ทำไมมายุ่งเรื่องการเมือง? วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเดนมาร์ก มาเล่าถึงหนังสือภาพแจ่ม ๆ จากสเปนบ้างค่ะ หนังสือภาพประจำวันนี้ มีชื่อว่า ASÍ ES LA DICTADURA (SO THIS IS A DICTATORSHIP— นี่แหละที่เขาเรียกว่า เผด็จการ) เป็นหนังสือที่มีประวัติยาวนาน ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยสนพ. Gaya Ciencia ในบาเซโลน่า ประเทศสเปน เมื่อปี 1977 (พ.ศ. 2520) ปีที่จอมเผด็จการ นายพลฟรังโก เสียชีวิตและประเทศสเปนได้ฤกษ์เดินทางสู่ประชาธิปไตยเสียที ต้นฉบับเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนนั้น เขียนโดยคุณ Equipo Plantel และวาดโดย คุณ L. F. Santamaría หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือชุด Books for Tomorrow ซึ่งได้รับเลือกมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 2016 ในชื่อชุดเดิม เนื้อหาเดิม เพิ่มเติมคือเปลี่ยนภาพประกอบใหม่ วาดโดยคุณ Mikel Casal และผลิตโดยสนพ. Kiosco Media Vaca ค่ะ หนังสือในชุดมีด้วยกัน 4 เล่ม ได้แก่ ◙ ASÍ ES LA DICTADURA (SO THIS IS A DICTATORSHIP— นี่แหละที่เขาเรียกว่า เผด็จการ)
ตอนนี้มีพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้วนะ ชื่อ "นี่แหละ เผด็จการ" ตีพิมพ์โดย คณะก้าวหน้า ค่ะ
หนังสือ "นี่แหละ เผด็จการ" ออกวางจำหน่ายเมื่อ ต้นปีที่ 2022 ค่ะ
◙ CÓMO PUEDE SER LA DEMOCRACIA (HOW DEMOCRACY COULD BE— แบบไหนนะ ที่เรียกประชาธิปไตย) ◙ HAY CLASES SOCIALES (THERE ARE SOCIAL CLASSES— ความเหลื่อมล้ำ มีอยู่จริง) ◙ LAS MUJERES Y LOS HOMBRES (WOMEN AND MEN— หญิงและชาย ทำไมไม่เท่าเทียม)
หนังสือเล่มอื่น ๆ ในชุด
อะไรกัน! ทั้งหมดนี่เขียนให้เด็กอ่านเหรอ แล้วเขียนมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วด้วย! หนังสือเด็กสเปนทำไมฮาร์ดคอร์ขนาดนี้!? ทางสนพ. เค้าเขียนอธิบายไว้ค่ะว่า ถึงเรื่องมันจะเขียนไว้นานแล้ว แต่อ่าน ๆ ดู พบว่าเนื้อหามันช่างซ้ำรอยปัจจุบันแบบเหลือเชื่อ และเด็ก ๆ ก็ควรได้ลองอ่านดู จะได้รู้ว่าโลกนี้มันเป็นอย่างไรและกำลังหมุนไปทางไหน
โฉมหน้าจอมเผด็จการรอบโลก
เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ รู้จักคนไหนบ้างเอ่ย?
ครั้งหนึ่ง เคยมีคนบอกเราว่า
หนังสือเด็กไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง
หนังสือเด็กควรเล่าแต่เรื่องสวยงาม จรรโลงใจ
เพราะเด็กยังไร้เดียงสา
อย่าเอาความคิดการเมืองไปครอบเด็ก
เราฟัง ๆ ดูตอนนั้นก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
เอ... ทำไมถึงห้ามพูดเรื่องการเมืองกับเด็ก?
ห้ามเด็กอ่านหรือเขียน หรือแสดงความเห็นเรื่องการเมือง
และยิ่งไปกว่านั้น เราจะกีดกันเด็กไม่ให้รู้ข่าวสารเรื่องการเมืองได้จริง ๆ หรือ? ในเมื่อการเมืองส่งผลต่อชีวิตปัจจุบันของทุก ๆ คน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ทั้งเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวของเด็ก ๆ ก็ล้วนเกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากการเมืองทั้งนั้น
(หน้าซ้าย) "คนที่เป็นเผด็จการ คือคนที่สั่งการนู่นนี่ เขาเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง
เพราะเขาทำให้ตัวเอง ได้เป็นเจ้านายของทุก ๆ คน"
(หน้าขวา) "เขาได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนน้อย
และขัดขวางความต้องการของคนส่วนใหญ่"
ตอนเด็ก ๆ เราเดินออกจากบ้านไปเจอขอทาน/ขอทานเด็ก เราก็นึกสงสัยแล้วว่า ทำไมเขามานั่งตรงนั้น เขาทำอะไร ทำไมบางคนถึงจน เราจะทำให้ทุกคนไม่จนได้มั้ย นั่นเป็นบทเรียนแรก ๆ ที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำรอบ ๆ ตัว นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่าทำไมเพื่อนบางคนมีกล่องดินสอสามชั้น มีเพจเจอร์ มีมือถือ ฯลฯ แต่บางคนอยากมีก็มีไม่ได้ ตัดภาพมาทุกวันนี้ เวลามีการประท้วง เด็ก ๆ ก็เห็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บ้าง ทีวีบ้าง มือถือบ้าง บางทีเห็นขบวนประท้วงอยู่หน้าบ้าน หรือระหว่างทางไป-กลับโรงเรียน ผู้ใหญ่จะอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้เด็กเข้าใจอย่างไร แล้วทำไม "หนังสือ" ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กแท้ ๆ ถึงช่วยอธิบายให้เด็กเข้าใจไม่ได้เล่า?
"จอมเผด็จการกล้าหาญที่สุด ฉลาดที่สุด สูงส่งที่สุด
จอมเผด็จการไม่มีเพื่อนหรอก เขาไม่ชอบใครเลย
(เพราะเขาฉลาดสุด สูงส่งสุด และดูดีที่สุดแล้ว)"
นักวิชาการด้านหนังสือเด็กท่านหนึ่งชื่อ Maria Gubar
เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ว่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เด็กมักถูกมองว่า ยังไร้ความสามารถ (deficit) และ แตกต่าง (different) จากผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง แทนที่จะมองว่า เด็กและผู้ใหญ่ต่างเติมเต็มกันและกัน (kindhip model) เด็กรู้บางสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ และผู้ใหญ่ก็เข้าใจในเรื่องบางเรื่องที่เด็กไม่เข้าใจ
ด้วยความที่มองว่าเด็กอยู่ในสถานะที่ "ด้อยกว่า" ผู้ใหญ่จึงพยายาม "ปกป้อง" และบางทีก็ "เจ้ากี้เจ้าการ" กับเด็กเพราะคิดว่าเด็กยังไม่มีความสามารถที่จะคิด หรือเข้าใจว่าอะไรดีกับตัวเขาเอง แต่การที่ผู้ใหญ่กีดกันเด็กจากข้อมูลบางส่วน หรือประสบการณ์บางอย่าง เพราะคิดว่า "เด็กยังไม่รู้เรื่องอะไรหรอก" นี่แหละ ที่จะทำให้เด็กกลายเป็น "อิกนอร์แรนท์" ไปจริง ๆ และในที่สุดก็อาจจะอกหักจากการต้องโตไปเผชิญกับความจริงที่ไม่ได้สวยงามเหมือนในเทพนิยายตามลำพัง
ขณะเดียวกัน การที่ผู้ใหญ่ด่วนสรุปว่า เด็กจะถูก "ครอบงำ" ได้ง่ายและได้ตลอดเวลา ก็เหมือนจะดูถูกเด็กเกินไป ว่าไม่มีความสามารถจะใคร่ครวญเองได้ว่าควรเชื่ออะไรไม่เชื่ออะไร แทนที่จะชวนให้เด็กคิดวิเคราะห์ กลับตัดโอกาสไม่ให้เด็กได้คิดอะไรเลยซะงั้น
(หน้าซ้าย) "จอมเผด็จการถือว่า ตนเองเป็นกฎหมาย (เพราะเขาเป็นคนออกกฎต่าง ๆ ขึ้นมาเอง)
และเป็นความยุติธรรม (มีแค่เพื่อน ๆ ของเขาเท่านั้น ที่จะได้เป็นผู้พิพากษา)"
"เขายังอยากจะปกครองทั้งกองทัพ ทั้งการศึกษา ทั้งโรงงาน ทั้งทุ่งนา ทั้งในที่ทำงานทุกหนทุกแห่ง"
(หน้าขวา) "เขาบอก ว่าให้เขาปกครองดีกว่า
เพราะทำแบบนี้แล้ว ในหมู่บ้าน ในเมืองเล็ก ในเมืองใหญ่ ทั่วประเทศจะได้เงียบสงบ
เพราะทุกคนต้องสงบปากสงบคำ และห้ามประท้วง"
แล้วถ้าเด็กอ่านเรื่องการเมืองได้ ควรจะอ่านเมื่ออายุเท่าไหร่ล่ะ?
เรื่องแบบไหนอ่านแล้วเด็กจะ "ไม่ถูกครอบงำ"
อ่านแล้วได้คิดและอยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
ไม่ใช่แค่ได้รู้สึกเศร้าใจ หวาดกลัวและสิ้นหวัง
ในต่างประเทศ มีหนังสือเด็กมากมายที่พูดเรื่องการเมือง เช่นการเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดเชื้อชาติ และการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในประวัติศาสตร์ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก บางเล่มสำหรับเด็กประถมต้น ประถมปลาย หรือบางทีก็เป็นเรื่องที่เด็กอนุบาลก็เข้าถึงได้ ด้วยกลวิธีเล่าเรื่องที่เรียบง่ายและใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นหลัก
นั่นแปลว่า การเล่าเรื่องการเมืองให้เด็กฟัง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง ตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
อยู่ที่ว่า นักเขียนนักวาดจะขบคิดหาแนวทางนำเสนอที่เหมาะสมกับผู้อ่านได้หรือไม่
แล้วผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัวเด็ก อย่างพ่อแม่ ครู และสนพ.เอง จะยอมให้เด็ก ๆ เข้าถึงและพูดคุยเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า
แล้วเพื่อน ๆ ละคะ คิดว่าเด็กควรรู้เรื่องการเมืองหรือไม่ แค่ไหน
และหากจะมีหนังสือเด็กที่เล่าเรื่องการเมืองให้เด็กไทยอ่าน คิดว่าจะเล่าเรื่องอะไรดีคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง Gubar, M. (2013). Risky Business: Talking about Children in Children’s Literature Criticism. Children's Literature Association Quarterly, 38(4), 450-457. https://doi.org/10.1353/chq.2013.0048 เครดิตภาพในเล่มจาก https://www.mediavaca.com/.../books.../asi-es-la-dictadura
コメント