top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"นักบัลเล่ต์น้อยแห่งซีเรีย" เรื่องเล่าใจสลายของผู้ลี้ภัยเด็ก

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ไม่เข้าใจมาก ๆ

ว่าทำไมในยุคนี้จึงยังมีคนที่ต้องการทำสงครามอีก!


หนังสือเล่มนี้ เราต้องขอยกให้เป็นหนึ่งในหนังสือเด็กในดวงใจเลยค่ะ


No Ballet Shoes in Syria (2019) เป็นนิยายสำหรับเด็กวัยประมาณประถมปลาย เขียนโดยคุณ Catherine Bruton นักเขียนที่มีผลงานหนังสือเด็กที่ได้รางวัลมาแล้วมากมาย เล่มนี้ตีพิมพ์กับ สนพ. Nosy Crow ประเทศสหราชอาณาจักรค่ะ ตอนนี้หนังสือมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น กับดัตช์ แต่ยังไม่มีแปลไทยนะคะ (จ้างได้ 555) หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของ "อายา" เด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ที่ย้ายมาอยู่ที่สหราชอาณาจักรกับแม่และน้องชายวัยเตาะแตะ จากที่เคยเป็นเด็กธรรมดา ๆ มีครอบครัวอบอุ่น มิตรสหาย และได้ไปเรียนบัลเล่ต์ทุกสัปดาห์ เธอต้องมาพึ่งพาความเมตตาของคนแปลกหน้าต่างแดน และเป็นเสาหลักให้ครอบครัวในวันที่พ่อไม่อยู่ โชคดีที่อายาได้เจอกับคลาสเรียนบัลเล่ต์ที่รับเธอเข้าเป็นสมาชิกใหม่ นักเรียนที่นั่นกำลังจะออดิชันเพื่อเข้าเรียนใน Northern Ballet School โรงเรียนสอนบัลเล่ต์ระดับอาชีพ หากอายาได้เป็นนักเรียน แม่และน้องของเธอก็อาจมีสิทธิได้อยู่ต่อไปในยูเค แต่ถ้าไม่... อายาและครอบครัวจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร???



แอบนอกเรื่อง

จริง ๆ เราเริ่มยืม No Ballet Shoes in Syria มาอ่านตั้งแต่ต้นเดือนเมษา เพราะครูที่สอนคลาสนักเขียนวรรณกรรมเด็กแนะนำมา ครูบอกว่า "ตาล... ถ้าเธอสนใจหนังสือเด็กสายโลกมืด เธอต้องอ่านเล่มนี้เลย นักเขียนคนนี้เค้ารีเสิร์ชโหดมาก ถึงจะไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัย ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม แต่เธอก็เขียนเรื่องที่ "authentic" ได้นะ"

เราก็รับปากว่าจะไปหาอ่านดู ปรากฏว่าอ่านไปร้องไห้ไป เล่มนึงมี 47 บท คนใจบางอย่างเรานี่ร้องไห้มันเกือบจะทุกบท 555 แล้วคือปกติเราจะอ่านหนังสือช่วงก่อนนอน เจอเล่มนี้เข้าไป นอนไม่หลับเลย อ่านแป๊บ ๆ น้ำตารื้น จบกัน วาง ไว้โอกาสหน้า ไปอ่านเล่มอื่นก่อน ผ่านไปสองเดือนถึงจะอ่านจบ ตอนแรกเราว่าจะรีวิวเรื่อง The Boy at the Back of the Class ของคุณ Onjali Q. Raúf นักเขียนหนังสือเด็กชาวอังกฤษเชื้อสายบังกลาเทศและนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรี แต่ว่าหลังจากที่อ่านเล่มนี้จบ เราก็เลือกเล่าเล่มนี้แทน เพราะมันมีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่างค่ะ ขอหยิบยกมา 3 ประเด็นแล้วกัน คือ


1️⃣ ความรีเสิร์ชโหด

คุณ Catherine Bruton ผู้เขียนเรื่อง No Ballet Shoes in Syria ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แต่เขียนหนังสือเด็กที่เล่าเรื่องจากมุมมองของผู้ลี้ภัยเด็กชาวซีเรีย ชื่อ อายา ได้สะเทือนใจ และน่าเชื่อถือมาก อ่านแล้วรู้เลยว่านักเขียนทำรีเสิร์ชมาดี เพราะเล่าความรู้สึกของผู้ลี้ภัยได้ละเอียดอ่อน ทั้งความกลัวถูกขับไล่ ความกดดันที่จะต้องเป็นเสาหลักให้คนในครอบครัว ความอับอายที่ต้องถูกคนมองด้วยสายตาเวทนา ต้องรับของบริจาค ความเหนื่อยล้าจนอยากจะยอมแพ้ และความรู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิตในขณะที่พี่น้องผองเพื่อนบาดเจ็บล้มตายระหว่างการหนีสงคราม ระหว่างที่อ่าน เรารู้สึกเลยว่า ถ้าเราไปตกอยู่ในสถานะแบบเดียวกันนั้น เราก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน มันช่างเป็นประสบการณ์ที่ทรมานและน่าหวาดกลัวมาก ไม่ว่าจะสำหรับใครก็ตาม


ในบทส่งท้าย คุณ Catherine ยังบอกด้วยว่า เธอไปใช้เวลาสังเกตและสัมภาษณ์คนที่องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหลายแห่ง เช่น Bristol Refugee Rights, Bath Welcomes Refugees ฯลฯ รวมถึงพูดคุยกับสมาชิกจากชุมชนผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยูเค ทั้งยังอ่านบทสัมภาษณ์และคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยเด็กอีกนับไม่ถ้วน เธอต้องการเขียนเรื่องออกมาให้เข้าไปนั่งในใจผู้อ่าน เป็นเรื่องที่ผู้ลี้ภัยอ่านแล้วรู้สึกเข้มแข็ง มีกำลังใจ ไม่ใช่รู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่เหยื่อที่อ่อนแอ


ในวงการหนังสือเด็กตะวันตก นักวิชาการและคนทำหนังสือจะระมัดระวังและเคลือบแคลงมาก เวลานักเขียนจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน (เช่น นักเขียนผิวขาว จากกลุ่มชนชั้นกลาง/สูง ร่างกาย 'ปกติ') "เล่าเรื่องแทน" ชนกลุ่มน้อย (เช่น คนผิวสี คนยากจน ผู้อพยพลี้ภัย ผู้พิการ) เพราะนักเขียนเหล่านี้มีสถานะมั่นคง เป็นที่รับฟัง นับหน้าถือตาในสังคมอยู่แล้ว พูดอะไรใครก็เชื่อว่าจริง หากนักเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนกลุ่มที่ไม่มีปากมีเสียง โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้ดีพอ ไม่มีประสบการณ์ร่วม เข้าใจผิด หรือมีอคติแอบแฝง ก็จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจชนกลุ่มน้อยผิด หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็คือพาลมีอคติไปด้วย ชนกลุ่มน้อยไร้พาวเวอร์จะมาแก้ความเข้าใจใหม่ก็ยากอีก เพราะไม่ได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตัวเอง หรือเล่าไปก็ไม่ได้เข้าถึงผู้คนได้มากมายเท่า


การนำวัฒนธรรม ประสบการณ์ และเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยมาหากินโดยไม่ได้ใส่ใจจะพัฒนาชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น ได้รับความยุติธรรมและความเข้าใจขึ้น ถือว่าเป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultural appropriation) แม้บางครั้งนักเขียนจะหวังดี แต่หากรีเสิร์ชมาไม่ดี แทนที่จะช่วยมันจะกลายเป็นซ้ำเติมไป

เช่น การเล่าเรื่องให้ผู้ลี้ภัยมีลักษณะน่าสงสาร น่าเวทนา อาจทำให้คนทั่วไปในสังคมรู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ แต่ทำให้ผู้ลี้ภัยเองรู้สึกต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไร้พลัง ทำได้แค่รอคอยความช่วยเหลือเท่านั้น ปัญหาทางพล็อตแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งกับหนังสืออีกหลายเล่ม ที่เล่าเรื่องชนกลุ่มน้อยและผู้ที่ถูกกดขี่ในสังคม บนพื้นฐานความเข้าใจของอภิสิทธิชน (Matthews, 2009; Rieger&McGrail, 2015)


เมื่อเทียบกับ The Boy at the Back of the Class แล้ว เรื่องนั้นแม้จะมีใจความซัพพอร์ตผู้ลี้ภัย แต่ด้วยความที่เรื่องเล่าผ่านสายตาตัวละครเด็กชาวอังกฤษที่มีเพื่อนเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้ลี้ภัยกลายเป็นตัวละครรองไปอยู่นั่นเอง แต่ว่ามันก็ใช่ว่าจะไม่ดีนะ เพราะการหักไปเล่ามุมมองของคนรอบข้าง ทำให้เรื่องซอฟต์ลงไปเลย เด็กที่อ่านก็คงไม่สะเทือนใจมากเท่าไหร่


อย่างไรก็ตามสำหรับสายฮาร์ดคอร์อย่างเราแล้ว เราว่าเล่าเรื่องจริงตรง ๆ ไปเลยเนี่ยแหละดีสุด (ถึงจะร้องไห้ตัวแห้งไปแล้วก็ตาม...) คุณ Catherine ทำให้เราเชื่อว่า ใครจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับใครก็ได้ แค่ต้องทำรีเสิร์ชมาให้ดีพอและซื่อตรงต่อหน้าที่ "กระบอกเสียง" ของตนให้มาก

2️⃣ วิธีเล่าเรื่องไกลตัว ให้ใกล้ตัวเด็ก ๆ

3️⃣ เล่าเรื่องโหดร้ายที่ให้ความหวัง


No Ballet Shoes in Syria ไม่มีภาพประกอบ เราเลยคัดโควตเด็ด ๆ มาแปะเพิ่มเติมพอเป็นน้ำจิ้ม ใครสนใจ ตอนนี้หนังสือมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น กับดัตช์ แต่ยังไม่มีแปลไทยนะคะ (จ้างได้ 555)


เพื่อน ๆ ชอบโควตไหนสุดคะ?

เล่มต่อไปที่จะรีวิวเป็นเล่มสุดท้ายของเซ็ตหนังสือธีมผู้ลี้ภัยและสงครามแล้ว ความเด็ดของมันคือ เขียนโดยผู้ลี้ภัยเด็กจริง ๆ ทำให้มักถูกคนนำไปเทียบกับบันทึกของแอนน์ แฟรงก์... ติดตามอ่านกันนะคะ

จริง ๆ แล้วยังมีหนังสืออีกมากมายที่เล่าเรื่องธีมนี้ (เราคัดมาแค่เล่มต่างกันมาก ๆ จะได้หลากหลาย ๆ) ใครกำลังหาหนังสืออยู่สอบถามเข้ามาได้ มาแลกเปลี่ยนกันได้น้า แล้วพบกันค่า


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง

Matthews Nicole (2009) Contesting representations of disabled children in picture-books: visibility, the body and the social model of disability, Children's Geographies, 7:1, 37-49, DOI: 10.1080/14733280802631005


Rieger, A. and McGrail, E. (2015) ‘Exploring Children’s Literature With Authentic Representations of Disability’. Kappa Delta Pi Record, 51(1): 18-23. DOI:10.1080/00228958.2015.988560


Comments


bottom of page