top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

ทำไมเด็ก ๆ ควรอ่านเรื่องผู้ลี้ภัยและสงคราม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

หนังสือเด็กที่เล่าประสบการณ์อันเลวร้าย

เกิดขึ้นจากความหวัง ว่าจะไม่มีใครต้องผ่านเห็นการณ์อันน่าเจ็บปวดอีก

หากเราต้องการเห็นสันติสุขในรุ่นลูกหลาน

ต้องให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสงคราม

และจดจำว่า อย่าก่อสงครามอีกเด็ดขาด!

ปีนี้ไม่เพียงแต่เรื่องสงครามในยูเครนเท่านั้นที่ทำให้โลกช็อก

ข่าวการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาในไทย ที่เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคนก็สั่นสะเทือนสังคมทั้งไทยเทศไม่ต่างกัน

มีฟอลโลเวอร์ถามมาว่า Children's Books Out There รู้จักหนังสือเด็กธีมผู้ลี้ภัยและสงครามบ้างมั้ย คำตอบคือ บอกมาเลยค่ะว่าเอากี่เล่ม 555+


ถามว่า ตามกระแสมั้ย...

แม่นแล้ว!

ในเมื่อโอกาสที่คนไทยเริ่มสนใจเรื่องการค้ามนุษย์และชีวืตจิตใจของผู้ลี้ภัยมาถึงแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะแนะนำหนังสือเด็กที่พูดถึงเรื่องนี้บ้าง เพื่อที่ผู้ใหญ่จะได้เอาไปคุยกับเด็ก ๆ ต่อได้


ตีเหล็กมันต้องตีตอนร้อนเนี่ยแหละ ว่ะฮ่า!



ทำไมผู้ลี้ภัยและสงครามจึงเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กควรใส่ใจ

โลกเราเต็มไปด้วยคนย้ายถิ่นฐาน ทั้งที่สมัครใจและไม่สมัครใจ การย้ายถิ่นมีอยู่หลายสาเหตุ ตั้งแต่การถูกบีบบังคับด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ต้องออกไปหางานไกลบ้าน ในจังหวัดอื่น ไปจนถึงประเทศอื่น ทวีปอื่น บ้างก็ถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่น เพราะชีวิตถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจ อคติ ความเกลียดชังของคนในสังคมกันเอง หรือ ต้องลี้ภัยเพราะประเทศเกิดภัยพิบัติและสงคราม


ภาพจากหนังสือสารคดีเด็กเรื่อง A Refugee's Journey from Myanmar (เรื่องเล่าผู้ลี้ภัย จาก เมียนมาร์, 2018)

พูดถึงการลักลอบค้ามนุษย์และขนส่งผู้ลี้ภัยในประเทศไทย


ในปี 2007 คณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา (USCRI) แล้ว ในปีนั้นมีผู้ลี้ภัยทั่วโลกถึง 14 ล้านคน (USCRI, 2007)


สิบปีต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights หรือ UNCHR) รายงานว่า ในปี 2017 จำนวนผู้ถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานเพิ่มสูงจนมีจำนวนมากถึง 68.5 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้ มีผู้ลี้ภัย (refugee— ผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานเพราะความกลัวว่าจะถูกตามล่ากดขี่ ด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดทางการเมือง) คิดเป็น 25.4 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นับเป็นการลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ปัจจัยหลักมาจากการอพยพจากวิกฤตการณ์สงครามกลางเมืองซูดานใต้ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ เพื่อนบ้านของเรานั่นเอง


ภาพจากหนังสือเรื่อง "Rachel's Story" (เรื่องเล่าของ เรเชล)


การลี้ภัยเป็นประสบการณ์ที่เหน็ดเหนื่อยและน่าหวาดกลัว เพราะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายอย่าง ผู้ลี้ภัยต้องปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ ๆ บ่อยครั้งในสภาวะที่ถูกตัดขาดจากทรัพยากร ทั้งเงิน อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ข่าวสาร การศึกษา ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และครอบครัวญาติมิตรที่รัก ทั้งยังเสี่ยงต้องพบกับอคติจากผู้คนในสังคมใหม่ เข้าถึงสวัสดิการทางสังคมไม่ได้ และสื่อสารขอความช่วยเหลือลำบาก การเดินทางลี้ภัยจึงมักส่งผลกระทบต่อกายและใจของผู้ลี้ภัยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและสวัสดิภาพของเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัย


การที่มีเพื่อนร่วมโลกมากมายต้องเผชิญกับความทุกข์สาหัสขนาดนี้ เป็นเรื่องที่มนุษย์ด้วยกันไม่ควรมองข้าม แต่ควรพยายามทำความเข้าใจ และหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัจจัยที่ทำให้คนต้องลี้ภัย หรือพบกับประสบการณ์เลวร้ายในสังคมใหม่ที่เขาไปถึง เช่น ต่อต้านสงคราม การใช้ความรุนแรงจากรัฐ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และพยายามลดอคติที่สังคมและตนเองมีต่อผู้ลี้ภัย อย่างการเหยียดชาติพันธุ์ ศาสนา สีผิว ฯลฯ


แล้วใครจะรู้ ไม่แน่ว่าสักวัน คุณเองก็อาจต้องลี้ภัยไปที่ไหนสักที่ก็ได้ หากคนในสังคมยังมีอคติต่อกัน สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และการใช้อำนาจรัฐกดขี่ประชาชนด้วยกันเองอยู่



หนังสือเด็กเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสงครามไม่ใช่เรื่องใหม่... ในโลกใบนี้

ในงานวิจัยปี 2007 เรื่องวิวัฒนาการอัตลักษณ์ผู้ลี้ภัยในหนังสือเด็ก และการนำไปใช้ในวงการการศึกษา คุณ Julia Hope พบว่า ตั้งแต่ปี 1950s เป็นต้นมา หนังสือเด็กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในโลกวรรณกรรมเด็กภาษาอังกฤษนั้น เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก หนังสือเหล่านี้เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยจากหลากหลายประเทศ เช่น บอสเนีย โซมาเลีย อิรก อิหร่าน อัฟกานิสถาน และเวียดนาม โดยมุ่งไปที่ผู้อ่านที่อายุน้อยที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมา สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในประเทศตะวันตกที่รับผู้ลี้ภัยเข้ามาจำนวนมาก เกิดเป็นความต้องการ และความจำเป็นที่ต้องสื่อสารเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรมให้กับพลเมืองตั้งแต่เล็ก เพื่อป้องกันอคติ ความเกลียดชัง ความแตกแยกในสังคมแต่เนิ่น ๆ


ภาพจากหนังสือเรื่อง "The Day War Came" (วันที่สงครามมาเยือน)


ในขณะเดียวกัน การเล่าเรื่องของเด็ก ๆ ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามา ก็ช่วยให้เด็ก ๆ เหล่านี้รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น มีเพื่อน ครู และคนรอบข้างสนับสนุน ให้ความปลอดภัย สามารถใช้สมาธิไปกับการเรียนรู้ภาษาใหม่ สังคมใหม่ และปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่ได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว ซึมเศร้า หรือเป็นเป้าของการรังแก


การใช้หนังสือเด็กเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสงคราม จัดการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ เองก็มีมานานแล้วในหลายประเทศ เพื่อช่วยให้เด็กรับมือสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศนั้น ๆ ในภูมิภาค หรือในโลกใบนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่นักวิชาการหนังสือ Rudine Sims Bishop ตีพิมพ์บทความในปี 1990 เรียกร้องให้มีการผลิตหนังสือเด็กที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่หลากหลายของผู้คนบนโลก เพื่อสร้างพลโลกที่มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันและกัน ไม่เป็นอิกนอร์แรนต์ เห็นตัวเอง/ชนชาติตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามความขัดแย้งไม่จบสิ้น


ติดตามอ่านรีวิวหนังสือเด็กธีมผู้ลี้ภัยและสงครามทั้ง 9 เรื่อง 9 รสกันนะคะ


เรื่องเล่าของผู้ลี้ภัยและสงครามในลิสต์หนังสือที่เรากำลังจะแนะนำต่อจากนี้

นักวิชาการด้านหนังสือเด็ก คุณ Natalia A. Ward และ คุณ Amber N. Warren เสนอไว้ในงานวิจัยเรื่องหนังสือเด็กเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย (2020) ว่า การเสนอภาพผู้ลี้ภัยในหนังสือ ควรจะต้องระวังไม่ให้เกิดการเหมารวมว่า เมื่อพูดถึงผู้ลี้ภัยแล้ว ทุกคนจะนึกถึงการเดินทางที่ยากลำบาก ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ในทันที (มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่มีประสบการณ์นี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมีประสบการณ์แบบเดียวกัน!), สื่อว่า ผู้ลี้ภัยควรต้องทิ้งอดีตไว้ข้างหลังเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข, หรือเน้นย้ำเกินไปว่า ผู้ลี้ภัยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างน่าค้นหา เข้าใจยาก (exotic)

ตรงกันข้าม หนังสือควรฝึกให้ผู้อ่านเปิดใจรับฟังทั้งประสบการณ์การลี้ภัย ความหวัง ความปรารถนา ที่ผู้ลี้ภัยแต่ละคนมีแตกต่างกันไป และปลูกฝังให้ผู้อ่านเห็น "ความเป็นมนุษย์" ผ่านแง่มุมชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ที่เหมือนกันระหว่างพวกเขาและผู้ลี้ภัยมากขึ้น

ภาพจากหนังสือสารคดีเด็กเรื่อง Refugees and Migrants (ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ)


ในทำนองเดียวกัน คุณ Julia Hope ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการผลิตหนังสือเด็กเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ที่เล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงโดยผู้ลี้ภัยเอง เพื่อให้ได้มุมมองที่จริงแท้และหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้กับการเหมารวม (stereotype) ในโลกวรรณกรรม


หนังสือทั้งเก้าเล่มที่เห็นอยู่ในภาพด้านบนนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยของหนังสือธีมผู้ลี้ภัยและสงครามเท่านั้น บางเล่มเป็นหนังสือคลาสสิก บางเล่มเพิ่งออกมาใหม่


เราเลือกเล่มที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบหนังสือที่หลากหลาย เหมาะกับเด็กที่มีกลุ่มอายุ และ ความสนใจ + ความสามารถในการอ่าน ต่างกัน มีทั้งหนังสือภาพ หนังสือกึ่งไร้คำ หนังสือไร้คำ คอมิก หนังสือสารคดีภาพประกอบ หนังสือเล่มไร้ภาพ และไดอารี่ บ้างเล่าโดยผู้ใหญ่ บ้างเล่าโดยตัวเด็กผู้ลี้ภัยเอง บ้างก็คละกลวิธีกันไป ถ้ามีเวลา ในอนาคตก็จะทยอยลงหนังสือเพิ่มไว้ในอัลบั้มนี้ค่ะ คือมันมีที่ดี ๆ เยอะมาก ลงได้ไม่หมด 555 สนใจคลิกอ่านได้ ที่นี่ นะคะ


ใครรู้จักหนังสือเล่มไหนเพิ่มเติม มาแนะนำกันได้ในคอมเมนต์นะคะ ช่วยกันชี้เป้าจะได้ช่วยเพิ่มพูนสื่อการสอนให้ผู้ใหญ่ในบ้านเรา เอาไว้คุยกับเด็ก ๆ ค่ะ


ภาพจากหนังสือเรื่อง "The Arrival" (ผู้มาเยือน)



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่



อ้างอิง


Bishop, R.S. (1990). Mirrors, windows, and sliding glass doors. Perspectives: Choosing and Using Books for the Classroom, 1(3), ix–xi.


Hope, Julia. "“One Day we had to Run”: The Development of the Refugee Identity in Children’s Literature and its Function in Education." Children's Literature in Education, vol. 39, no. 4, 2008, pp. 295-304.


A. Ward, Natalia, and Amber N. Warren. "“In Search of Peace”: Refugee Experiences in Children's Literature." The Reading Teacher, vol. 73, no. 4, 2020, pp. 405-413.

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page