เลือกตั้งกี่ครั้งก็พังทุกที หรือมันจะผิดที่ประชาธิปไตย?
หนังสือภาพสำหรับเด็ก 5+ จากนิทานอุปมาที่นักการเมืองแคนาดา
เคยใช้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว จะพาเราย้อนดูอีกครั้งว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร
เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ
เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ ตาลได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านข่าวการเมืองหลาย ๆ ข่าวที่ผ่านมา เกี่ยวกับผู้นำประเทศหลาย ๆ คนที่ทำประชาชนผิดหวัง ช้ำใจ ซ้ำไปซ้ำมา แล้วนึกถึงหนังสือเล่มนี้ค่ะ...
ที่ผ่านมามีหนังสือเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) นะคะ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อย...
ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าหนังสือเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องเริ่มที่เด็กและครอบครัวนี่แหละค่ะ!
โอเค บ่นเสร็จละ กลับเข้าโหมดรีวิว
เรื่องน่าเจ็บใจ ของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว 90 ปี (ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปีนี้ ปี 2565) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปมาแล้ว 28 ครั้ง (ครั้งล่าสุดคือเมื่อ มีนาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา)
ที่ผ่านมามีนายกรัฐมนตรี 29 คน เป็นพลเรือน 16 คน เป็นทหาร 13 คน ในจำนวนนี้ ผู้นำที่เป็นทหารที่อยู่ในตำแหน่งนานสุด 3 อันดับ (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์) อยู่ในตำแหน่งรวมทั้งสิ้น 11,590 วัน (ยังไม่รวมพล.อ.ประยุทธ ที่เป็นผู้นำประเทศนานเป็นอันดับ 4 ราว ๆ 3,006 วัน) ขณะที่ผู้นำพลเรือนทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งนายกรวมกันแค่ประมาณ 9,800 กว่าวัน หรือราว ๆ 26 ปี (คำนวณโดยให้ 1 ปี = 365 วัน)
ตลอดการเป็นประชาธิปไตย ไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ (เปลี่ยนแทบทุก ๆ 4 ปี) นักการเมืองไทยยุบสภาไปแล้ว 13 ครั้ง รัฐประหาร 13 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือ รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ถึงวันนี้การเมืองไทย สังคมไทยเป็นอย่างไร เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงมีคำตอบแตกต่างกันไป แต่ดูจากสถิติที่ว่ามานี้แล้ว ที่เราคงเห็นตรงกันได้ว่า ภาพรวมการเมืองไทยระดับประเทศนั้นไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและผู้นำประเทศบ่อย โดยมีทหารขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นส่วนมาก
เรื่องวุ่น ๆ ของการเลือกตั้ง
ความผิดหวังที่มาจากการได้ผู้นำที่ไม่ได้ดั่งใจ ทำให้หลาย ๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า "การเลือก" ผู้นำแบบประชาธิปไตยที่เราทำกันอยู่ตลอดมาเกือบร้อยปีนี้ มันเหมาะกับประเทศ กับประชาชนไทยจริงหรือเปล่า
เคยมีใครบางคนกล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยเป็น "The best of the worst" หรือก็คือ มันไม่มีระบอบไหนสมบูรณ์แบบ ประชาธิปไตยก็เช่นกัน มันไม่เพอร์เฟ็กต์ มันแค่แย่น้อยสุด เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษแห่งสหราชอาณาจักร เองก็เคยได้ยกความเห็นนี้มาพูด ว่า "Democracy is the worst form of government, except for all the others." (ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่แย่ที่สุด ถ้าไม่นับระบอบอื่น ๆ ที่ผ่านมา)
การเปิดโอกาสให้คนเลือกผู้แทนและผู้นำนั้น ก็เพื่อให้ผู้นำรับฟังความต้องการของประชาชนจริง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาระบอบอื่น ๆ ไม่ได้มีโครงสร้างอำนาจอย่างนั้น ไม่มีกฎหมาย หรืออะไรมารับประกันได้ว่า ผู้นำจะรับฟังและทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตลอดไป
แต่แล้ว ทำไมการเลือกตั้งจึงไม่ได้ทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไป?
คำถามนี้ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มนึงขึ้นมาค่ะ เรื่อง "เลือกตั้งเมืองหนู" (Mouseland) เขียนโดยคุณ Alice Méricourt ภาพประกอบโดยคุณ Ma Sanjin
เรื่องมีอยู่ว่า ทุก 4-5 ปี หนูทั้งหลายเลือกตั้งกันครั้งหนึ่ง
และทุก ๆ ครั้ง พวกมันก็จะเลือก แมวดำ มาเป็นผู้นำเมืองหนู...
ทุก ๆ ครั้ง แมวดำ จะออกกฎหมายมามากมาย ไม่ใช่เพื่อหนู แต่เพื่อแมว
ไม่ต้องบอกก็คงจะเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ชีวิตของพวกหนู ยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ
ถูกแมวจับกินอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว
แมวอ้วนตัวดำ เข้ามาเป็นผู้นำของเมืองหนูทุกสมัย
เข้ามาเป็นรัฐบาลกี่ครั้ง ก็ไม่เคยเห็นหัวพวกหนู ๆ ตาดำ ๆ บ้างเลย
พอการเลือกตั้งรอบใหม่มาถึง พวกหนูก็ตัดสินใจค่ะ ว่าคราวนี้ไม่เลือกแมวดำแล้ว
เรา เลือก แมวขาว ดีกว่า!
(โอ๊ยเนาะ...)
อย่างที่คงจะคาดการณ์กันได้ แมวขาวมาอยู่ในตำแหน่งแล้ว ก็ออกกฎหมายเพื่อแมวขาวด้วยกันอีก
เลือกตั้งรอบต่อมา พวกหนูจึงเลือกแมวดำกับแมวขาว ให้มาเป็นรัฐบาลผสม
เละเทะเหมือนเดิม...
แต่ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่รอบ พวกหนูก็ไม่มีความสุขเสียที เพราะทุกครั้งพวกมันก็เลือกแต่ แมว แมว แล้วก็แมว เข้ามาปกครองบ้านเมือง
สุดท้ายหนูตัวหนึ่งจึงเสนอขึ้นว่า "ทำไมเราไม่เลือกหนูเป็นผู้นำบ้างล่ะ"
"คิดบ้า ๆ!" พวกหนูไม่ว่าเปล่า แต่จับเจ้าหนูบ้าตัวนั้นไปขังคุกด้วย
สุดท้ายแล้ว เมืองหนูจะเป็นอย่างไรนะ?
นิทานการเมือง เรื่องซ้ำซากจาก 100 ปีที่แล้ว
"เลือกตั้งเมืองหนู" (Mouseland) ไม่ใช่เรื่องใหม่
หนังสือภาพเล่มนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานอุปมาสุดคลาสสิกของคุณ Clarence Gillis (1895–1960) นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และผู้นำสหภาพแรงงานชาวแคนาดา
คุณ Clarence Gillis
นิทานเรื่องนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะ คุณ Tommy Douglas (1904–1986) นักการเมืองจากพรรคสหพันธ์สหกรณ์เครือจักรภพ (Co-operative Commonwealth Federation) ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในแคนาดา ช่วงปี 1932-1961 เคยเล่าไว้ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้ง คุณ Tommy เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) คนที่ 7 และในยุคนั้น เขาได้ริเริ่มระบบหลังประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนเดียว (single-payer, universal health care program) ขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักและจดจำสำหรับชาวแคนาดา ขนาดที่ในปี 2004 ผู้ชมโทรทัศน์สาธารณะแคนาดา (CBC) ได้โหวตให้เขาเป็นหนึ่งใน ชาวแคนาดาผู้ยอดเยี่ยมที่สุด (The Greatest Canadian) ด้วย
คุณ Tommy Douglas ภาพจาก historic-uk.com
นิทานเรื่องการเลือกตั้งเมืองหนู เกิดขึ้นเพื่อเตือนใจผู้คนให้เห็นถึงปัญหาการเลือก "ผู้นำ" หรือ "ผู้แทน" ที่ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขา แต่ทำเพื่อพวกพ้องตัวเอง ผู้เลือกตั้งจึงควรหันมาสนับสนุนคนที่เป็นปากเสียงให้ตัวเองได้แล้ว
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คุณ Douglas Adams นักเขียนนิยายไซไฟ คอมเมดี้และบทภาพยนตร์ชาวอังกฤษ (หนึ่งในนิยายดังของเขาคือเรื่อง "The Hitchhiker's Guide to the Galaxy" นั่นเอง) ยังได้ดัดแปลงเรื่องเพิ่มเติม ว่า มนุษย์เลือกกิ้งก่าเข้ามาเป็นผู้นำทุก ๆ ปี และแม้จะรู้ว่ากิ้งก่าพวกนั้นจะไม่ได้ทำอะไรดี ๆ ให้มนุษย์เลย สุดท้ายพวกเขาก็ยังเลือกมันเข้ามา เพราะเชื่อว่า ถ้าไม่เลือกกิ้งก่าพวกนี้ "กิ้งก่าที่แย่กว่า" จะเข้ามาแทน
นิทานเรื่องนี้จะซ้ำรอยในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกหรือไม่
คงต้องรอติดตามชมกันต่อไป
หนังสือเล่มนี้ ตาลเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ให้อยู่
สนพ. ไหนสนใจ อ่านรายละเอียดหนังสือและขอข้อมูลได้ตามที่ระบุไว้ใน ลิงก์นี้ นะคะ
ส่วนใครสนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับ "หนังสือต้านเผด็จการ" เล่มอื่น ๆ จิ้ม ลิงก์นี้ เลยค่า
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
อ้างอิง
Comentarios