top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"ตำราตด" สารานุกรมแห่งการผายลม

อัปเดตเมื่อ 6 ธ.ค.

หนังสือสารคดีหลอก ๆ (mockumentary) ชวนฮาจากเดนมาร์ก

เขียนโดยคุณแม่กับคุณลูกวัย 7 ขวบ

ที่เอาเรื่องจริงเกี่ยวกับ "ตด" แบบต่าง ๆ มาเล่าใน "ตำราตด"

โดยแบ่งหมวดหมู่ คำอธิบายไว้ให้พร้อมสรรพ

ขนาดพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 (คนปัจจุบัน) ก็ยังตดเลยนะ




สวัสดีค่ะ หนังสือเด็กวันนี้เป็นหนังสือจากประเทศเดนมาร์ก

ที่แค่อ่านก็ได้กลิ่นโชยมาแต่ไกล...


Pruttebogen— leksikon over fimser (ตำราตด— สารานุกรมแห่งการผายลม) เป็นเรื่องที่แต่งโดยคู่แม่ลูกชาวเดนิช คุณ Stine Dreyer และ น้อง Hannah Dreyer วัย 7 ขวบ โดยมี คุณ Maria Buchmann เป็นผู้วาดภาพประกอบสีน้ำให้ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2019 กับสนพ. Turbine


หนังสือตำราตดนี้ เป็นหนังสือแนว Mockumentary หรือสารคดีล้อเลียนเกี่ยวกับตด จัดทำโดย "สมาคมตดแห่งชาติ" (Forbundet for fimser) ผู้วิจัยและจำแนกตดประเภทต่าง ๆ อย่างจริงจัง


คำให้การของ (คณะ) ผู้วิจัย ผู้จำแนกตดประเภทต่าง ๆ ราวกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย


วัตถุประสงค์ในการจัดทำนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การจำแนกตดประเภทต่าง ๆ ตามที่มา อานุภาพ เสียง กลิ่น สี และ อินกรีเดียนต์ (ส่วนผสมสารตั้งต้น...) โดยละเอียด เช่น

  • Anstrengelsesprutten (The Straining Fart— ตดตัวเกร็ง) เกิดการก้มตัวลง แล้วยืดตัวขึ้นเพื่อจะหยิบของหนัก ๆ ขึ้นจากพื้น

  • Den Lydløse (The Silent— เงียบสังหาร) เป็นตดแบบไร้เสียง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ยิ่งตดเบาเท่าไหร่ก็ยิ่งเหม็นเท่านั้น

  • Gevæsalven (The Gun Salvo— ตดไรเฟิล) ตดแบบที่นึกว่ามันจะมาปู้ดเดียวแล้วหาย แต่กลับมาแบบระรัวเป็นชุด

ฯลฯ


ตดนานาประเภทในสารานุกรมเล่มนี้


นอกจาก Pruttebogen จะเรียกเสียงฮาให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่แล้ว (ฮากลิ้งจริง ๆ เชื่อเรา) หนังสือยังแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า ไม่ว่าใครหน้าไหน เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ผู้มากลากดี แม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (ดูภาพได้ที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่าง) ก็ตดกันทั้งนั้น ไม่เห็นต้องอายอะไรเลย มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ จริง ๆ นะ!



ทำไมหนังสือเกี่ยวกับตด (อึ ฯลฯ) ถึงป็อบปูล่าร์ในหมู่เด็ก

ส่วนหนึ่งของร่างกายที่เด็ก ๆ ดูจะกระตือรือร้นสนใจเป็นพิเศษเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากของแหวะ ๆ อย่าง "ตด" "อึ" "ฉี่" "อ้วก" "ขี้มูก" "น้ำลาย" และสารพัดสิ่งชวนอี๋ ขณะที่ผู้ใหญ่พากันเบ้หน้าและหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งดุเด็ก ๆ ให้ "หยุดเล่นพิศดารสักทีจะได้มั้ย" เด็ก ๆ กลับมีปฏิกิริยาต่างออกไป คือยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ จะต้องเล่นน้ำมูก ป้ายน้ำลาย แกล้งตดดัง ๆ หรือเรียกผู้ใหญ่มาดูอึ/ฉี่ตัวเอง (Loizou, 2005)


งานวิจัยของบุคลากรทำงานสถานเลี้ยงเด็กเกี่ยวกับอารมณ์ขันของเด็กหลายงานพบว่า หนึ่งในเรื่องที่เด็กเห็นว่าน่าขำ คือเรื่องเกี่ยวกับ อึ ตด ฉี่ และสารพัดของเสียจากร่างกาย (Loizou, 2005; Loizou & Loizou, 2019; Coates & Coates, 2020)


เนื่องจากเด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมมันถึงตลก นักวิชาการจึงได้แต่สังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ และตั้งทฤษฏีขึ้นมาว่า คงเป็นเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นกฎสังคมข้อแรก ๆ ที่ผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เมื่อเด็กเริ่มหัดเดิน (ไปทั่วบ้าน หรือออกไปนอกบ้าน) และ หัดนั่ง (กระโถน)

อย่างเช่น ต้องขับถ่ายลงกระโถน ต้องกินผักเยอะ ๆ จะได้อึออก ต้องไม่เล่นน้ำลายน้ำมูก และอย่าพูดเรื่องอึ ฉี่ ตดในที่สาธารณะเพราะมันไม่สุภาพ หรือการเน้นย้ำว่า อึ ฉี่รดกางเกง/ที่นอนเป็นเรื่องน่าอายร้ายแรง แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม


กฎเหล่านี้ถูกนำมาบังคับใช้กับเด็ก ๆ เพื่อความสะดวกของผู้ใหญ่ (ไม่ต้องเก็บอึฉี่ ผ้าอ้อมแพมเพิร์สอีกต่อไป) และเตรียมความพร้อมเด็ก ๆ ในการดูแลตัวเองและเข้าสังคม แต่ในมุมของเด็กเล็ก ๆ การบังคับร่างกายให้ได้ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการนั้น คงเป็นเรื่องกดดันพอสมควร และยิ่งผู้ใหญ่บ้านไหนดุว่า บ่นด่า ทำให้เด็กได้อายแล้ว เด็กก็อาจจะยิ่งเครียดหนักขึ้นไปอีกจนกลายเป็นอั้นอึอั้นฉี่ ไม่กล้าเข้าห้องน้ำนอกบ้าน ทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องผูกได้


ในแง่หนึ่ง อารมณ์ขันเป็นกลไกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งให้เด็กได้ระบายความเครียดดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่เด็ก ๆ ได้แหกกฎทั้งหลาย แล้วเห็นผู้ใหญ่ตัวโต ๆ แตกตื่นนั้นมันออกจะฮา และทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมีอำนาจควบคุมโลกที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบเข้าใจยากได้บ้าง แม้จะเล็กน้อยก็ตาม (Loizou & Loizou, 2019)


ได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจเลย ว่าทำไมที่ผ่านมา จึงได้มีหนังสือเด็กมากมายเกี่ยวกับเรื่องการขับถ่าย แถมหลาย ๆ เล่มยังเป็นหนังสือขายดีซะด้วย ทั้งเรื่องแต่ง และเรื่องแนวสารคดีความรู้ อย่างเช่น หนังสือชุดกัปตันกางเกงใน (โดย Dav Pilky) ตด (โดย ชินตะโช) อึ (โดย ทาโร โกมิ) หนังสือภาพไขคดีปริศนาชุด นักสืบหน้าก้น (โดย Troll แปลไทยและตีพิมพ์แล้วกับสนพ. นานมีบุ๊กส์) ฯลฯ


สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 พร้อมบุหรี่

ภาพลักษณ์ที่ชาวเดนิชคุ้นเคย (ทรงสูบบุหรี่จัดเป็นที่เลื่องลือ)

ข้อความด้านข้างเขียนว่า

"มนุษย์ทุกคนล้วนตด ไม่เว้นแม้แต่ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 และจัสติน บีเบอร์"



เรื่องมันไร้สาระไปมั้ย อ่านไปทำไมกัน???

คนเราจะอ่านหนังสือที ไม่จำเป็นต้องอ่านเพื่อให้ได้สาระวิชาการเสมอไป แต่อาจอ่านเพื่อความสนุกสนานบันเทิง เพื่อให้มีช่วงเวลาที่ดี เพื่อจินตนาการ เพื่อมีเรื่องพูดคุยกับเพื่อนนักอ่านด้วยกัน ฯลฯ

หลายครั้ง หนังสือตลก ๆ สำหรับเด็ก ถูกผู้ใหญ่มองว่า "ไร้สาระ" ไม่ควรเสียเวลาอ่าน แต่รู้หรือไม่ว่า "การอ่านเพื่อความสนุก" นี่แหละ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อ การสร้างพฤติกรรมอ่านตลอดชีวิต


สำนักพิมพ์และองค์กรส่งเสริมการอ่านในสหราชอาณาจักรหลาย ๆ แห่ง ได้ทำวิจัยออกมาหลายปีแล้ว พบว่า ค่านิยมการอ่านที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังให้เด็ก ว่า "ต้องอ่านเพื่อให้รู้ ให้เรียนได้เก่ง ๆ ได้เกรดดี ๆ สอบเข้าโรงเรียนดี ๆ ได้" ทำให้เด็ก ๆ มอง "หนังสือ" เท่ากับ "การเรียนที่โรงเรียน" และ "ความเครียด" ความคิดเช่นนี้ ทำให้เด็กไม่สนใจจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านด้วยตัวเองนอกโรงเรียน จะอ่านก็ต่อเมื่อถูกสั่งมาให้อ่าน พอเรียนจบแล้วก็อาจจะนาน ๆ อ่านที หรือไม่อ่านเลย


งานวิจัยของ Scholastic ยังพบอีกว่า ค่านิยมนี้เริ่มส่งผลลบต่อพฤติกรรมการอ่านในเด็ก ตั้งแต่อายุแค่ 9 ขวบ โดยสนพ. พบว่า เด็กอายุ 9 ปี ที่ยังคงรู้สึกสนุกกับการอ่านอยู่ มีจำนวนลดลงฮวบฮาบ เมื่อเทียบกับจำนวนเด็ก 8 ขวบที่สนุกกับการอ่าน (28% กับ 40%) ขณะเดียวกัน จำนวนเด็ก 9 ขวบที่อ่านหนังสือเพื่อความบันเทิง 5-7 วันต่อสัปดาห์ ก็น้อยลงด้วย จากจำนวน 57% ในกลุ่มเด็ก 8 ขวบ เหลือแค่ 35% ในกลุ่มเด็ก 9 ขวบ


นอกจากจะมีผลดีด้านทัศนคติต่อการอ่านแล้ว การอ่านเรื่องตลกขบขัน ยังช่วยเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ เป็นคนอารมณ์ดี และมีความคิดสร้างสรรค์ หักมุมอีกด้วย


แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ ตอนเด็ก ๆ มีหนังสือสนุก ๆ เรื่องไหนที่ประทับใจ (แม้จะโดนหาว่าไร้สาระก็เถอะ) บ้าง?


*บทความนี้พิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง

Coates, E., & Coates, A. (2020). ‘My Nose Is Running Like a Pound of Butter’: Exploring Young Children’s Humour. Early Child Development and Care, 190(13), 2119-2133. https://doi.org/10.1080/03004430.2018.1561443


Loizou, E. (2005). Infant Humor: the Theory of the Absurd and the Empowerment Theory. International journal of early years education, 13(1), 43-53. https://doi.org/10.1080/09669760500048329


Loizou, E., & Loizou, E. K. (2019). Children’s Visual and Verbal Humorous Productions after Participating in a Series of Creative Activities, Framed by the Theory of the Absurd and the Empowerment Theory. In E. Loizou & S. L. Recchia (Eds.), Research on Young Children’s Humor: Theoretical and Practical Implications for Early Childhood Education (pp. 107-126). Springer International Publishing. https://doi.org/10.1007/978-3-030-15202-4_7


อ่านรายละเอียดงานวิจัยการอ่านในสหราชอาณาจักร

และ

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page