ทำได้ไหม... อธิบายกฎหมายสูงสุดให้คนตัวเล็กสุดฟัง
สวัสดี 10 ธค. วันรัฐธรรมนูญ ค่ะ
เนื่องจากวันนี้ เป็นวันเริ่มต้นกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ฉบับแรก)
กฎหมายสูงสุดที่มอบอำนาจให้กับประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ให้ได้รับประโยชน์และการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียม เราเลยจะมารีวิวหนังสือและสื่อเด็กเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญกัน
[ ทั่วโลก ฉลองวันรัฐธรรมนูญ ]
นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศประชาธิปไตยหลายๆ ประเทศก็เฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญ เพื่อรำลึกวันที่อำนาจได้เปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือประชาชนเหมือนกัน โดยบางประเทศจะมีการฉลองวันชาติแยกออกไปด้วย โดยเลือกวันที่ ประเทศที่เป็นไทจากเจ้าอาณานิคม หรือก่อตั้งประเทศได้ เป็นวันสำคัญ
เช่น วันชาติของสหรัฐอเมริกาเป็นวันประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ วันชาติของฝรั่งเศสเป็นวันทลายคุกบาสตีล ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส
ขณะที่บางประเทศก็ฉลองวันที่ได้รับรัฐธรรมนูญ ในฐานะวันชาติวันหนึ่งไปเลย (เช่น อินเดีย และสวีเดน)
หรือบางประเทศก็ไม่มีวันชาติเลย แต่ฉลองแค่วันที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญเท่านั้น (เช่น เดนมาร์ก)
ส่วนไทยเองก็เคยฉลองวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิย.) ในฐานะวันชาติอยู่พักหนึ่งด้วยนะ
การฉลองวันรัฐธรรมนูญในเดนมาร์ก แม้จะมีการพูดถึงในสื่อและโรงเรียน
และเป็นวันที่หลายๆ คนได้หยุด ตามข้อตกลงของสหภาพแรงงาน
แต่มีคนเพียงประมาณร้อยละ 7 ที่เฉลิมฉลองวันนี้อย่างจริงจัง
และแน่นอน เหตุการณ์สำคัญสำหรับชาติเช่นนี้ ก็ต้องได้รับการกล่าวขานในหนังสือและสื่อสำหรับเด็กๆ ด้วยอยู่แล้ว
เช่น เมื่อปี 2015 สหราชอาณาจักรก็ได้ฉลองวันครบรอบ 800 ปีข้อตกลง Magna Carta ที่กษัตริย์อังกฤษ (จอห์น) ลงนามรับรองสิทธิของ "อิสรชน" ไว้ว่า "อิสรชน" จะต้องไม่ถูกคุมขัง ยึดทรัพย์ เนรเทศ จนกว่าจะได้รับการพิพากษาจากผู้มีอำนาจเท่ากัน ตามกฎหมาย อย่างเป็นธรรม (ข้อ 39) ทั้งนี้ กฎหมายเป็นของทุกคน บังคับใช้กับทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น (ข้อ 40)
กฎหมายนี้บังคับใช้และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับรัฐธรรมนูญในอีกหลายๆ ประเทศ
เพื่อฉลองวันครบรอบดังกล่าว CBBC โทรทัศน์สาธารณะสำหรับเด็กแห่งสหราชอาณาจักร จึงมีการจัดทำเพลงเล่าประวัติศาสตร์ Magna Carta ขึ้นให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ได้รู้จักกฎหมายแสนสำคัญฉบับนี้
เข้าไปดูกันได้ที่คลิปด้านล่างนี้นะคะ
*** เพลงปั่นๆ จาก CBBC ใครฟังออกบ้างมั้ยคะ ว่าเพลงนี้ parody เพลงดังเพลงไหน ***
[รธน. เดนมาร์ก]
นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว อีกชาติมีการเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญ (แต่ไม่มีวันชาติเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร) คือ ประเทศเดนมาร์ก
ซึ่งประเทศนี้ เขาก็มีหนังสือเด็ก เล่าถึงรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ที่เรียกว่า (Grundloven) เหมือนกัน
โดยเล่มล่าสุดที่ตาลเพิ่งรีวิวไปในงานเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ก็คือหนังสือเรื่อง "Bogen om Grundloven — Danmarks Vigtigste Lov" (หนังสือเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่สำคัญสุดของเดนมาร์ก) นั่นเอง
ผู้เขียน: Stine Godsk Skyum
ผู้วาด: Anne Godsk & Torben Binzer Meyer
รธน.เดนมาร์ก นับว่าเป็นหนึ่งในสิบรธน. ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิย. 1849
และตลอด 174 ปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขแค่ 4 ครั้งเท่านั้น (แก้ไขล่าสุดปี 1953) ทั้งย้งไม่เคยถูกฉีกเลยสักครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาในรธน. เดนมาร์ก ก็ถูกให้ความสำคัญอย่างมาก มีการฉลองประดับธงชาติเดนมาร์ก กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมชนต่างๆ ทุกปี มีคนแต่งเพลงให้มากมาย รวมถึงเพลงปั่นๆ อย่าง
Sangen om Grundloven (the Song about Constitution) ในทำนอง Let it be ของ The Beatles ขณะที่ คนต่างชาติทุกคนที่เข้าเรียนคอร์สภาษาเดนิชที่รัฐจัดให้เรียน ก็จะต้องได้อ่านบทความสรุปสิทธิพลเมืองหลัก 3 ประการในรธน. รวมถึงประวัติศาสตร์การได้มาซึ่งรธน. และเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้นไปก็จะต้องได้เข้าไปอ่านรธน. ในเว็บไซต์ของรัฐอีกด้วย (จริงจังมากๆ เลยนะ)
Sangen om Grundloven มีเนื้อเพลงประมาณว่า "
หนังสือที่ฉันชอบที่สุด ก็คือ รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก... มัน "โครตะระ" ยาว และเต็มไปด้วยคำพูดฉลาดๆ
อยากรู้เรื่องอะไรก็ไปหาในนั้นได้หมด ทั้งศาสนาประจำชาติ เสรีภาพในการพูด การใช้อาวุธ
สิทธิครอบครอง ราชวงศ์ อำนาจรัฐ ภาษี การเลือกตั้ง สากกะเบือยันเรือรบ
มีเขียนไว้ไม่ต้องสงสัย เพราะมัน โครตตะระ ยาว และชัดเจนมาก"
[สารคดีเด็กเล่าเรื่องรัฐธรรมนูญ]
กลับมาที่ Bogen om Grundloven...
หนังสือภาพสารคดีเล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่ออธิบายให้ผู้อ่านวัย 10 ขวบขึ้นไป (ตามที่ระบุไว้ด้านหลังเล่ม) เข้าใจความเป็นมาของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ของประเทศเดนมาร์ก
โดยเล่าถึง
- จุดเริ่มต้นของหลักปรัชญาที่ว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน
นักปรัชญาคนสำคัญ ที่มีส่วนในการวางหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนและกลไกถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตย
- สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลก/ประเทศรอบข้างขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติฝรั่งเศส และปัจจัยส่วนตัว (เช่น ความต้องการแต่งงานและวางมือจากการเมือง) ที่นำมาสู่การลงพระปรมาภิไธยในรธน. เดนมาร์ก
กษัตริย์เฟรเดริก ที่ 7 ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ให้อำนาจแก่ประชาชน
ด้วยเหตุผลปัจจัยหลายประการ ทั้งความกลัวถูกปฏิวัติรุนแรง
ความกดดันทางการเมือง และความต้องการวางมือส่วนพระองค์
- เหตุการณ์สำคัญๆ ในยุคเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ที่สังคมยังต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายอย่างและเรียนรู้ไปพร้อมกันว่า จะใช้ความรุนแรงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพไม่ได้ และสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง คนรวยและคนจน เป็นความชอบธรรมที่จำเป็นต้องตราลงไปในรัฐธรรมนูญ
สิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศครั้งแรก ให้สิทธิแก่พลเมืองผู้เป็น "อิสรชน"
กล่าวคือ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติอำนาจใคร สามารถแสดงเจตจำนงแท้จริงของตนเองได้
นั่นแปลว่า มีแค่ผู้ชาย ที่มีร่างกายสมบูรณ์ มีฐานะ มีที่ดินและมีอายุประมาณหนึ่งเท่านั้น ที่มีสิทธิเลือกตั้ง และเป็นผู้แทนราษฎร
คนต่างชาติ - คนสติไม่สมประกอบ - คนจน - คนเป็นหนี้ - คนรับใช้ - ผู้ต้องโทษจำคุก และ ผู้หญิง ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
- หลักการถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตย (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)
ไปจนถึง
- สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ
โดยในหนังสือพิจารณา สิทธิพื้นฐาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ สิทธิที่จะมีเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการรวมตัวทางสังคม (ซึ่งเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีการตั้งสหภาพแรงงานอย่างแพร่หลายในเดนมาร์ก)
เสรีภาพในความเชื่อและยึดถือศาสนา มีระบุไว้ในมาตรา 67 ในรธน. ของเดนมาร์ก
ก่อนที่จะมีรธน. ฉบับนี้ คนที่ไม่ได้เชื่อในศาสนาคริสต์อย่างที่กษัตริย์เชื่อ จะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
- วิธีการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย "ในทางมิชอบ" VS การตรวจสอบโดยสื่อ
นักข่าว มีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของตัวแทนประชาชน ไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ผิด
และช่วยให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ถึงการใช้และปกป้องสิทธิของตัวเอง
- และที่น่าสนใจที่สุด คือ เมื่อสังคมประชาธิปไตย (เช่น เยอรมนี) เลือกผู้นำผิด (เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์) จะเกิดอะไรขึ้น และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มีสถานการณ์ใดอีกบ้าง ที่รัฐบาลใช้ข้ออ้างด้าน "ความปลอดภัย" ของประชาชน มาลดทอนสิทธิของประชาชนตามรธน. (เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลเดนมาร์กห้ามประชาชนออกจากบ้านเป็นประเทศแรกๆ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ทำผิดรธน. แต่สุดท้าย การตัดสินใจครั้งนั้นก็นับว่าถูกต้อง และยับยั้งวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
[ทำไมพูดถึงรัฐธรรมนูญในหนังสือเด็ก]
การปูพื้นฐานความเข้าใจปัจจัยต่างๆ และสภาพสังคมก่อนการมีรัฐธรรมนูญ ทำให้เด็กๆ (และผู้ใหญ่ด้วย) เห็นความสำคัญของกฎหมายที่ให้กำหนดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุ้มครองประชาชน และเห็นความเชื่อมโยงว่า ทำไมมาตราต่างๆ ที่ยกมาพูดถึงในหนังสือ จึงช่วยการันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ...อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งที่เราประทับใจมากๆ เลยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ ก็คือ
หนังสือไม่ได้เล่าถึงประชาธิปไตยแค่ในแง่ว่า มันแก้ปัญหาความอยุติธรรมและการบริหารงานล้มเหลวในระบอบอื่นๆ อย่างไร แต่ยังพูดถึงจุดอ่อนของมันด้วยว่า เมื่อมีผู้ใช้อำนาจในทางที่ผิด จะเกิดผลกระทบต่อคนในสังคมอย่างไร (เช่น เกิดสงคราม ความไม่สงบ การลี้ภัย)
ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลาง และช่วยให้ผู้อ่านตระหนักสภาพความเป็นจริงของระบบสังคม ว่าทุกระบอบการปกครองล้วนมีจุดอ่อน และมีโอกาศพังครืนได้ หากไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจให้ดี
ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สิ่งที่รับมาแล้ว ทำให้ปัญหาทุกอย่างหายวับไป สิ่งสำคัญคือ ประชาชน—ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่— ต้องเข้ามามีส่วนร่วม รับรู้กลไกทำงานของมัน และปรับแก้ระบบกันไป โดยมีสาธารณประโยชน์เป็นที่ตั้ง
ขณะเดียวกัน การสอดแทรกสถานการณ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่า อำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อาจถูกลิดรอนลงได้ด้วยสาเหตุใดบ้าง ยังอาจช่วยให้เราสังเกตเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ได้ชัดเจนกว่าเดิมเมื่อมันมาถึง และพร้อมพูดคุยถึงข้อจำกัดทางเสรีภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ใน "สถานการณ์พิเศษ" ทั้งหลาย รวมถึงพร้อมแสดงความเห็นได้ว่า สังคมควรมีมาตรการทางการปกครองอย่างไรในกรณีเหล่านี้
(เทียบกรณีตัวอย่าง ระหว่าง "ฮิตเลอร์รวบอำนาจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ลงเอยด้วยการพาประชาชนเข้าสู่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ" กับ "รัฐบาลเดนมาร์กบังคับให้ประชาชนอยู่บ้านช่วงโควิด-19 ระบาด และนับได้ว่าตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ")
[วัยแห่งการหาที่ยืนของตัวเอง]
ช่วงประถมปลาย เป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังหาแบบอย่างและที่ทางของตัวเอง ว่าจะเติบโตไปทำอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร และเพื่ออะไร จึงจะเริ่มสนใจสังคมและกฎเกณฑ์รอบตัวมากขึ้น
เรื่องราวของกฎหมายใหญ่สุด ที่มีอำนาจกำหนดสิ่งที่คนในชาติทำได้ ทำไม่ได้ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เห็นว่า ควรหาวิธีทำให้เด็กสนใจ เข้าใจความเป็นมาในอดีต และความเป็นไปในปัจจุบันให้ได้
แม้ภาษากฎหมายในรัฐธรรมนูญอาจฟังดูยาก แต่ความตั้งใจของนักเขียนที่อยากให้เด็กๆ ได้รู้สิทธิของตัวเอง และมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเท่าๆ กับผู้ใหญ่ ทำให้สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากเกินอธิบาย
แล้วไทยเราล่ะคะ
เล่าเรื่องรัฐธรรมนูญและความเป็นมาของมันให้เด็กๆ ของเราฟังแล้วมากแค่ไหน อย่างไร?
คงท้าทายไม่น้อยเลยที่จะนำเสนอเรื่องราวของรธน. ทั้ง 20 ฉบับ + ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนร่างด้วย
แต่ก็อย่างว่า
เดี๋ยวนี้หนังสือสารคดีภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับ ประสาทวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สิทธิมนุษยชน หรือเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม ก็มีคนทำมาแล้วทั้งนั้น
When there's a will, there's a way
หากมีปณิธาน ย่อมมีทางไป...
เพื่อนๆ ว่าอย่างนั้นไหมล่ะคะ
บทความนี้ เขียนลงเพจ Children's Books Out There ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง
Comments