top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

ครอบครัวสายรุ้ง— ภาพความหลากหลายที่ยังไม่ค่อยมีในหนังสือเด็กไทย

อัปเดตเมื่อ 10 ม.ค. 2566

พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศกับเด็ก... ไกลตัวไปไหม

จะทำให้เด็ก "แก่แดด" หรือเปล่า?



สวัสดีค่ะ

หายไปอ่านหนังสืออยู่นาน วันนี้กลับมาแล้วค่ะ กับหัวข้อใหม่ หนังสือเด็กรอบโลกในธีม LGBTQ+


โพสต์นี้ได้แรงบันดาลใจหลัก มาจากข่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการวินิจฉัยเรื่องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1448 ให้คู่สมรสเป็นเพศใดก็ได้ ไม่ใช่แค่ชายกับหญิง ออกไปอีกเป็นวันที่ 14 ธันวาคม

[ตามอ่านสรุปเรื่องพรบ. คู่ชีวิต และการแก้มาตรา 1448 ได้ที่ https://workpointtoday.com/15explainer-lgbt/]


ปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศได้ปรับกฎหมายให้มอบสิทธิที่เท่าเทียมแก่คู่สมรสที่ไม่ใช่ ชาย-หญิง และหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเราด้วย ยังพิจารณากันอยู่ว่า คู่สมรสเพศเดียวกันควรได้สิทธิเท่ากับคู่สมรสต่างเพศหรือไม่ ควรได้สิทธิอะไรบ้าง และควรได้เมื่อไหร่ บางที่ให้สิทธิแล้วบางประการ แต่ยังให้ไม่ครบทุกด้านด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป




ว่าแต่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มาเกี่ยวอะไรด้วยกับหนังสือเด็ก

ทำไมเด็กต้องรู้เรื่องเพศด้วย? มันจะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ทำให้เด็ก "แก่แดด" หรือเปล่า?


เด็กควรจะน่ารัก ใส ๆ ไม่ประสีประสาเรื่องเพศไม่ใช่หรือ?



นักวิชาการด้านหนังสือเด็กหลายคนลงความเห็นว่า หนังสือเด็ก โดยเฉพาะ "หนังสือภาพ" สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่หลายคนเห็นว่าควรใสบริสุทธิ์ ปลอดเรื่องเพศนั้น จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้ปลอดจากเรื่องเพศจริง ๆ แต่แฝงไปด้วยค่านิยมทางเพศหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมทางเพศที่เกี่ยวกับ "ครอบครัว" ซึ่งเป็นหน่วยสังคมแรกที่สอนบทบาททางสังคมให้กับเด็ก ๆ


ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมที่ว่า เพศชายต้องคู่เพศหญิง เพศชายกับเพศหญิงเท่านั้นที่สร้างครอบครัวได้ และในครอบครัวก็จะต้องมีพ่อ แม่ ลูก โดย ชายกับหญิงในครอบครัวนั้นจะต้องมีบทบาทเหมือน/ต่างอย่างไรกันบ้าง


ตัวอย่างเช่น

งานวิจัยไทยของคุณเกศราพร ทองพุ่มพฤกษา (ปี 2018 และ ปี 2020) เกี่ยวกับการนำเสนอตัวละครหญิง ตัวละคร "แม่" และ "เมีย" ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก 3-6 ปีในประเทศไทย พบว่า ความเป็นหญิงในหนังสือ "นิทาน" ไทยในกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาวิจัย มีตัวละครหลักเพศหญิงน้อยกว่าตัวละครชาย (ตัวละครสัตว์ที่มีลักษณะเป็นหญิงก็มีน้อยกว่า) แม่ในนิทานไทยส่วนใหญ่มักจะดูอ่อนเยาว์ ไว้ผมประบ่า แต่งหน้า ทุกคนใส่ชุดเรียบร้อย ตัวเล็กกว่าพ่อ ขนตายาว (แม้จะเป็นสัตว์ก็ตาม)


ตัวอย่างหนังสือที่มีการกล่าวถึงโดยผู้วิจัยและเด็ก ๆ ในบทวิจัย

"แม่ เมีย และ “สัตว์โลกแสนสวย”: นิยามแห่งความเป็นเพศหญิงในหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก?"



นอกจากนี้ นิทานส่วนใหญ่ยังมอบบทบาทให้ "แม่" มากกว่าพ่อ ในการอบรมสั่งสอนลูก ดูแลลูกที่ป่วย เล่นกับลูก พาลูกเข้านอน รวมทั้งทำงานบ้านสารพัดอย่าง โดย "แม่" (คน) มักจะปรากฎตัวในฉากบ้าน เช่น ห้องครัวและห้องนอนเป็นหลัก

เป็นนัยว่า เพศหญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านช่องและลูก ๆ ไม่ได้เป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และครอบครัวต้องมี พ่อ แม่ ลูก พร้อมหน้าจึงจะ "ปกติ" สมบูรณ์


ทว่า ครอบครัวในโลกแห่งความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลายบ้านมีทั้งพ่อและแม่เป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว หรือบางทีก็มีแค่แม่คนเดียว พ่อคนเดียว หรือปู่ย่าตายาย/ลุงป้าน้าอา เลี้ยงดูหลานโดยพ่อแม่เด็กไม่อยู่ด้วย พ่อแม่บางครอบครัวอาจจะอายุน้อย หรืออายุมากกว่าค่าเฉลี่ย หรือบางที "ครอบครัว" อาจจะไม่ต้องมีลูกหรือคู่ชีวิตเลยก็ได้ มีแค่คนกับสัตว์เลี้ยงแสนรักก็พอ

[อ่านสถิติความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทยได้ ที่นี่]


ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการและคนทำหนังสือเด็กหลายรายจึงเห็นพ้องตัองกันว่า คำกล่าวที่ว่าหนังสือเด็กต้องเลี่ยงการพูดเรื่องเพศกับเด็กนั้น นอกจากจะทำไม่ได้จริงแล้วยังมีผลไปจำกัดกรอบความคิดของเด็กในเรื่องบทบาท อัตลักษณ์ทางเพศของตนที่จะแสดงออกมาได้ภายในและภายนอกครอบครัว รวมถึงอาจจะฝึกให้เด็กหลงมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ค่านิยมทางเพศต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม เปลี่ยนแปลงได้ และบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) ก็ไม่ใช่กฎตายตัว



ครอบครัวในโลกความเป็นจริง ที่หนังสือเด็กต้องพยายามพูดถึงให้มากกว่านี้

มีทั้งครอบครัวพ่อสองคน แม่สองคน พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว เด็ก ๆ อยู่กับปู่ย่าตายาย

หรืออยู่กับพี่น้องกันเอง เด็กอยู่กับครอบครัวอุปถัมป์ บางครอบครัวไม่มีลูก

บางคนมีสัตว์เลี้ยงหรือต้นไม้เป็นสมาชิกในครอบครัว



อ้าว... แล้วทำไมเราจึงควรจะผลิตหรือส่งเสริมให้ครอบครัว "ทั่ว ๆ ไป" อ่านหนังสือเกี่ยวกับครอบครัวที่มีผู้ปกครองเพศเดียวกันหรือมีตัวละครหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นด้วย ในเมื่อครอบครัวเหล่านี้เป็นครอบครัว "ส่วนน้อย"?


ในวงการหนังสือเด็กมีคำกล่าวที่ว่า "หนังสือเด็ก เปรียบเสมือน กระจก หน้าต่าง และประตู" (Bishop, 1990) กล่าวคือ หนังสือที่เสนอภาพชีวิตจริงที่แตกต่างหลากหลาย (Diversity) ช่วยให้เด็ก ๆ ที่ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ใช่วิถีคนส่วนใหญ่ รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีคนสนใจและพูดถึงในทางที่ดีและยิ่งกว่านั้นคือ เข้าอกเข้าใจ ทำให้เด็ก ๆ กลุ่มน้อยรู้สึกว่า สังคมได้มอบที่ยืนให้กับเขา


หนังสือถือได้ว่าทำหน้าที่เหมือนกับ "กระจก" ที่ทำให้เขาได้มองและพิจารณาตัวเอง เห็นบทบาทของตัวเองในสังคม และเข้าใจ ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น


หนังสือคืออะไรสำหรับเด็ก ๆ ในสายตาของ Grant Snider (มีการต่อยอดจาก Sims Bishop)



ขณะเดียวกัน เด็กที่มีชีวิต มีอัตลักษณ์อยู่ในขนบของคนส่วนมาก เมื่ออ่านหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตแบบอื่น ๆ แล้วก็เหมือนกับได้เปิด "หน้าต่าง" ออกไป พบกับโลกกว้าง ไม่ใช่ติดอยู่กับความคิดที่ว่า การใช้ชีวิตตามขนบ หรือแบบ "คนส่วนใหญ่" เป็นเรื่องที่ดีวิเศษกว่าคนอื่น ๆ หรือเป็นข้อบังคับที่ตนเองแหวกออกไปไม่ได้

เมื่อเด็กตระหนักได้ว่า โลกข้างนอกยังมีอะไรอีกมากให้เรียนรู้ มีคนอีกมากมายให้ทำความรู้จัก มีปัญหาและความอยุติธรรมอีกมากที่รอการแก้ไข หนังสืออาจจะได้ทำหน้าที่ที่สามคือ เป็น "ประตู" ที่เปิดพาเด็ก ๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองและโลกแห่งความจริง

ซึ่งเด็กที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนั้น เราก็คงไม่ได้หวังให้มีแต่เด็กชายขอบเท่านั้น แต่คือเด็ก ๆ ทั้งหมดที่จะเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยหนึ่งต่างหากที่ควรจะได้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน


เรื่องครอบครัว LGBTQ+ ก็เช่นกัน แม้จะยังเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่ควรถูกมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพรบ. คู่ชีวิต ได้ให้สิทธิผู้ปกครองเพศเดียวกันรับอุปการะบุตรแล้วด้วย เราน่าจะได้เห็นเด็ก ๆ ที่มีผู้ปกครองหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น การผลิตหนังสือที่จะทำหน้าที่เป็นกระจกให้เด็ก ๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่คนทำหนังสือ และผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัวเด็กควรให้ความสนใจ


นำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้วหนังสือเด็กจะมีวิธีนำเสนอประเด็นความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศอย่างไรได้บ้าง? ควรเริ่มเล่าเรื่องนี้ให้เด็กตั้งแต่อายุเท่าไหร่ฟัง และการเล่าเรื่องเหล่านี้จะส่งผลต่อรสนิยมทางเพศของเด็กในอนาคตหรือไม่?


ในบทความหน้า เราจะลองพยายามตอบคำถามเหล่านี้ พร้อมรีวิวหนังสือภาพสำหรับเด็กในธีมความหลากหลายทางเพศ ให้ได้ชมกันดูค่ะ : )



หนังสือเด็กธีม LGBTQ+ ที่เราจะนำเสนอต่อไป

ติดตามชมกันนะคะ




*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่

อ้างอิง

เกศราพร ทองพุ่มพฤกษา. 2020. แม่ เมีย และ “สัตว์โลกแสนสวย”: นิยามแห่งความเป็นเพศหญิงในหนังสือนิทานภาพ สำหรับเด็ก, วารสารศาสตร์, 13, 29.

เกศราพร ทองพุ่มพฤกษา. 2018. การนำเสนอภาพความเป็นแม่ในหนังสือเด็กในประเทศไทย. วารสารศาสตร์, 11, 113.

Bishop, Rudine Sims. “Mirrors, Windows, and Sliding Glass Doors.” Perspectives: Choosing and Using Books for the Classroom, vol. 6, no. 3, 1990, pp. 9-11. https://scenicregional.org/wp-content/uploads/2017/08/Mirrors-Windows-and-Sliding-Glass-Doors.pdf?fbclid=IwAR336Ccwl3tuhhqzyWMpqRhxbkR3weq0cyDeNdhgx1h2VBxoJqbcQz618xA



Comments


bottom of page