top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"กระเป๋านักเดินทาง" เปิดโปงอคติต่อผู้ลี้ภัยในสังคม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ประเทศไหน ๆ ก็มักอยากเล่าเรื่องสังคมตัวเองในแง่ดี

แต่หนังสือเล่มนี้ จะชวนให้คนมองดูอคติและความอยุติธรรมที่สังคมมีต่อผู้อพยพ-ลี้ภัยให้ชัด ๆ

ทำให้คนอ่านต้องย้อนถามตัวเองว่า แล้วเราล่ะ เป็นเจ้าบ้านแบบสัตว์ป่าในเรื่องหรือเปล่า?



ยังคงอยู่กับหนังสือเด็กธีมผู้ลี้ภัยและสงคราม หนังสือที่ตาลจะมารีวิวในวันนี้มาจากประเทศสหราชอาณาจักร (อีกแล้ว) ค่ะ


The Suitcase (กระเป๋านักเดินทาง) เขียนและวาดโดยคุณ Chris Naylor-Ballesteros นักเขียนผู้มีผลงานหนังสือภาพสำหรับเด็กมาแล้วหลายเล่ม โดยเล่มนี้ตีพิมพ์กับสนพ. Nosy Crow เมื่อปี 2019 นี่เอง



คุณนากเดินทางมาไกล พร้อมกระเป๋าใบใหญ่ และนัยน์ตาอ่อนล้า


เรื่องมีอยู่ว่า จู่ ๆ สัตว์ป่าในป่าแห่งหนึ่งก็พบสิ่งมีชีวิตใหม่ ผ่านเข้ามาในอาณาเขตของพวกตน

คุณนากสีฟ้า มาพร้อมกับกระเป๋าเดินทางใบโต และท่าทางอ่อนแรง

สัตว์ต่าง ๆ พากันถามว่าคุณนากแบกอะไรมาด้วย คุณนากบอกเพียงว่า เขามีเพียง "ถ้วยชา" ใบหนึ่งเท่านั้น

แต่สัตว์ต่าง ๆ ก็ยังไม่พอใจ พวกมันไม่เชื่อว่าจะมีใครแบกกระเป๋าใบโตทั้งใบที่บรรจุแค่แก้วชาใบเดียว


คุณนากคิดนิดนึงแล้วจึงบอกว่า จริง ๆ นอกจากถ้วยชา เขายังนำเก้าอี้ โต๊ะ และห้องครัวแสนสวยสุขสบายมาด้วย ห้องครัวของคุณนากอยู่ในบ้านที่น่ารัก ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสวยงาม

สัตว์ต่าง ๆ ตาค้าง...


จะเป็นไปได้ยังไง กระเป๋าใบเล็กนิดเดียว จุเก้าอี้ โต๊ะ และห้องครัวไม่ได้หรอก

เจ้านากตัวนี้มีพิรุธ!


แต่คุณนากเหนื่อยเกินกว่าจะสนทนาต่อไปได้ เขาขดตัวนอนอยู่ข้าง ๆ กระเป๋านั้น แล้วหลับไป



ขอนากนอนก่อนนะ คร่อก~


ระหว่างที่คุณนากนอน สัตว์ต่าง ๆ ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับผู้มาใหม่ที่น่าสงสัยนี้ดี สุดท้ายแล้ว พวกมันก็ตัดสินใจทุบกระเป๋าใบโตด้วยหินก้อนใหญ่ เพื่อดูให้ชัดว่ามีอะไรอยู่ในนั้นกันแน่


ใครอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในกระเป๋า

เข้าไปฟังคุณ Chris เล่าเรื่อง The Suitcase จนจบได้นะคะ (แฮร่!)



เล่าอคติและความอยุติธรรมในสังคมให้เด็กฟัง

เรื่อง The Suitcase เป็นหนังสืออีกเล่มที่พูดถึงการเดินทางมาสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ความขัดแย้ง และอคติที่ผู้คนในสังคมมีต่อผู้อพยพ แต่ความต่างที่น่าสนใจก็คือ คุณ Chris เล่าเรื่องแบบคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าพูดถึงปัญหาผู้ลี้ภัย การอพยพหนีสงคราม และอคติที่คนมีต่อชาวต่างชาติ

ขณะเดียวกันก็คงพล็อตให้เรียบง่าย ดำเนินไปในรูปแบบบทสนทนา ที่ไม่ต้องตีความซับซ้อน


การใช้ตัวละครสัตว์โลกน่ารักเป็นตัวแทนของนักเดินทางและผู้คนในสังคม รวมทั้งการเน้นบทสนทนาระหว่างตัวละครมากกว่านำเสนอฉาก ช่วยให้หนังสือไม่ต้องนำเสนอภาพชนชาติ วัฒนธรรม หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้อ่านตีความเนื้อเรื่องเข้ากับบริบทสังคมใดก็ตามที่มีชาวต่างชาติอพยพเข้ามา ทำให้หนังสือเล่มนี้ข้ามกรอบภาษาและวัฒนธรรมไปได้อย่างแนบเนียน


อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หนังสือสะท้อนให้เห็น "อคติ" ของผู้คน ที่มองว่าชาวต่างชาติ "เป็นภัย" ต่อสังคม ผ่านบทสนทนาและการแสดงสีหน้าของตัวละครสัตว์ต่าง ๆ (โดยเฉพาะเจ้าจิ้งจอกช่างสงสัย) แบบไม่ปิดบัง


หนังสือเด็กหลายเล่ม เลี่ยงการเล่าเรื่องในมุมมองของเจ้าบ้านจอมอคติ และเน้นเล่าเรื่องความยากลำบากของผู้ลี้ภัยมากกว่า อาจจะเพื่อสร้างความรู้สึกสงสาร เห็นใจ และขณะเดียวกันก็ป้องกันการกล่าวหาคนในสังคมใดสังคมหนังสือว่าเป็นเจ้าบ้านที่ไม่ดี


ตรงกันข้าม The Suitcase เล่าเรื่องของคุณนากน้อยมาก เราไม่รู้เลยว่าคุณนากมาจากไหน ทำไมจึงต้องจากบ้านและลอยคอมากลางทะเลบ้าคลั่ง (เห็นได้จากในฝันของคุณนาก) รู้เพียงว่า คุณนากเคยมีชีวิตสงบสุข ไม่ยากลำบาก เป็นชีวิตธรรมดา ๆ ที่เขาย้อนคิดถึงด้วยความรัก (ดูได้จากการใช้ภาพสีซีเปียอุ่น ๆ ตอนที่คุณนากเล่าเรื่องห้องครัวกับทิวทัศน์สวยงามรอบ ๆ บ้าน)


บ้านที่คุณนากจากมาถูกนำเสนอด้วยสีซีเปียอบอุ่น


แต่เรารู้ว่าสัตว์ต่าง ๆ มองคุณนากอย่างไร มีทั้งสงสาร ทั้งลังเลใจที่จะเชื่อคุณนาก ทั้งสงสัยและหวาดระแวงเอามาก ๆ ตัวละครเหล่านี้ สะท้อนความรู้สึกและบทสนทนาที่มีอยู่จริงในสังคมรอบ ๆ ตัวเด็ก ๆ ได้ในแบบที่เรียบง่ายที่สุด


ระหว่างที่สัตว์ทั้งหลายถกเถียงกัน หนังสือได้สร้างบรรยากาศของความสงสัย ไม่ไว้วางใจ และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่อ่านอยู่ได้ลองตัดสินใจในฐานะ "เจ้าบ้าน" เองด้วยว่า จะเชื่อใจคุณนาก หรือจะแอบทุบกระเป๋าคุณนากออกดูของข้างใน ขณะที่คุณนากหลับดี


ฉากที่น่าจะทำให้คนอ่านสะอึกที่สุด คงเป็นตอนที่เหล่าสัตว์เปิดกระเป๋าออกดู แล้วพบว่าคุณนาก "พูดความจริง" ความรู้สึกแย่ที่ไม่เชื่อใจแถมยังทำลายข้าวของคนอื่น เป็นแรงผลักดันให้สัตว์ต่าง ๆ (รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย) คิดใคร่ครวญถึงความอยุติธรรม ความรุนแรง และสิ่งเลวร้ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพราะอคติ และอาจจะบันดาลใจให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนหันมาสำรวจความคิดของตัวเองด้วยว่า กำลังคิดเห็นอย่างไรอยู่กับคนที่เรารู้สึกว่า "ไม่ใช่พวกของเรา"


อคติที่คนในสังคมมีต่อผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัย ถูกสะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา


เราคิดว่า การที่หนังสือเล่มนี้ พูดถึงอคติ ความเข้าใจผิด การสำนึกผิด และการให้อภัยอย่างซื่อตรงนั้น เป็นสิ่งที่มีค่ากับผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้เราได้เห็นสังคมอย่างที่มันเป็น สังคมที่เต็มไปด้วยการถกเถียง ความไม่ไว้วางใจ ต่อสู้อยู่กับความเห็นอกเห็นใจ อยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก


เราได้เห็นว่า "เจ้าบ้าน" ไม่ได้น่ารักเสมอไป โดยเฉพาะเจ้าบ้านที่กำลังหวาดระแวง การทำใจยอมรับผู้มาใหม่เองก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่สุดท้ายแล้ว มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับคนที่ต้องพลัดจากถิ่นของตนมา ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม และการเปิดใจพูดคุย ช่วยเหลือ ให้อภัย และทำความรู้จักนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพ ไม่ว่าจะในสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน หรือข้ามชาติพันธุ์




แล้วไทยล่ะคะ ถ้าเราจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมไทย ในฐานะ "เจ้าบ้าน" ของผู้อพยพ/ลี้ภัย อย่างซื่อตรงแล้ว เราจะเล่าเรื่องอย่างไรบ้าง?

(ว่าแต่ มีใครทายถูกบ้างมั้ยว่า คุณนากพกอะไรติดกระเป๋ามาด้วย? )




*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง



Comments


bottom of page