top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

OUR HOME - โลกสวยงามดวงเดียวของพวกเรา

อัปเดตเมื่อ 14 พ.ย. 2566



[Children's Books In Here]

สวัสดีค่ะ ไม่ได้รีวิวหนังสือใหม่ๆ มาสักพัก วันนี้ เราขอมารีวิวหนังสือไทย (ในภาพเป็นฉบับภาษาอังกฤษ) ดูบ้าง ปกติเรานำเสนอหนังสือต่างประเทศที่ยังไม่ได้แปลเข้าไทยเป็นหลัก เพราะอยากให้คนไทยได้เห็นหนังสือที่หลากหลายจากนานาประเทศ แต่สถานการณ์รอบโลกและรอบตัวเราในช่วงนี้ ทั้งเรื่องน้ำท่วมใหญ่ที่ลิเบียและอีกหลายๆ ประเทศในเดือนกันยา ไหนจะเรื่องสงครามความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองที่ทับซ้อนเข้าไปอีก ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ ก็เลยอยากจะมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังดูบ้างค่ะ Our Home ตีพิมพ์โดย สนพ. Mountain mind มีชื่อภาษาไทยที่น่ารักมากๆ ว่า "เมื่อมองย้อนกลับมา ฉันจึงรู้ว่า บ้านของเราสวยงามเหลือเกิน" หนังสือเล่มนี้เล่าผ่านสายตาของผู้เล่าเรื่องที่กำลังจากโลกนี้ไป เราไม่ได้เห็นว่าผู้เล่าเรื่องเป็นใคร อายุเท่าไหร่ และกำลังจะไปไหน รู้แค่ว่าเขาอยู่ไกลออกไปและมองกลับมาที่โลกอันกว้างใหญ่เบื้องล่าง จากจุดนั้น เขาได้เห็นว่าโลกนี้ช่างสวยงาม เต็มไปด้วยชีวิตที่หลากหลาย แตกต่าง แต่ล้วนเชื่อมโยงถึงกัน เต็มไปด้วยสรรพภาษา จากทั้งมนุษย์และสิงสาราสัตว์ ที่บอกเล่าความลับน่าทึ่งของโลกให้คนที่ตั้งใจฟังได้รับรู้ แต่หลายครั้ง ผู้เล่าเรื่องกลับได้แต่ทอดถอนใจ ที่ตนเองไม่เคยได้ตระหนักเลยว่า โลกนี้คือบ้านที่สวยงามและควรค่าแก่การรักษา ไม่เคยคิดว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤต กว่าจะนึกได้ มันก็สายเกินกว่าที่เขาจะแก้ไขอะไรได้แล้ว




 

ธีมสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (sustainability) คงจะยังเป็นธีมหนังสือที่ทันยุคสมัยไปได้อีกหลายปีนับจากนี้ ในช่วงเวลาที่เราได้เปลี่ยนผ่านจาก ยุคโลกร้อน ไปสู่ยุค "โลกเดือด" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อมูลอุณหภูมิโลกปี 2015-2022 แสดงให้เห็นว่า ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างมาก ภาวะผิดปกตินี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่อาจย้อนกลับมาได้ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กระแสน้ำเย็นน้ำอุ่นที่พัดพาแร่ธาตุและอาหารต่างๆ มาให้ก็เปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์ต่างๆ ในห่วงโซ่อาหารเริ่มปรับปริมาณขึ้นลงไม่สมดุลกัน ไวรัสใหม่ๆ ที่เคยถูกควบคุมปริมาณหรือจำกัดที่อยู่อาศัยไว้ก็ปรากฏตัวขึ้น สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนมนุษย์เองก็ได้เผชิญผลกระทบมาแล้วมากมายทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความยากจนแร้นแค้น ภัยพิบัติ ฯลฯ ในต่างประเทศ สนพ. ต่างๆ เร่งทำหนังสือเด็กเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาได้หลายปีแล้ว โดยเฉพาะหนังสือเด็กเกี่ยวกับ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนที่นานาประเทศกำหนดร่วมกันเมื่อปี 2015 เท่าที่จำได้ ตอนที่เห็นครั้งแรกนั้นก็นานเกิน 6 ปี (หรือมากกว่า) มาแล้ว ส่วนเรื่องโลกร้อนนี่ ตาลจำได้ว่าเรียนมาตั้งแต่อยู่ป. 4 (และยังจำได้ดีว่า ครูที่สอนเรื่องนี้ตอนนั้นพูดหยอกแบบโหดๆ ว่า 'ครูน่ะรอดพ้นแล้ว พวกเธอนั่นแหละต้องรับกรรมไป') แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ยับยั้งโลกนี้ให้พังน้อยลงกว่าเดิมไม่ได้ แน่นอนว่า เรื่องผลกระทบจากมนุษย์และการรักษาสิ่งแวดล้อม คือองค์ความรู้สำคัญที่เยาวชนนับจากนี้ควรตระหนักและควรได้รับข้อมูลหลากหลาย แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า หน้าที่ดูแลโลกใบนี้เป็นของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผู้ใหญ่" เองที่ต้องตื่นตัว ช่วยรักษาบ้านแห่งเดียวของเราไว้ให้เด็กๆ รุ่นต่อไป

 

ต้องขอบคุณ คุณ Wiratee Tapingkae (ผู้เขียน) มากๆ เลยค่ะ ที่ส่งหนังสือดีๆ เล่มนี้มาให้ตาลได้อ่าน นอกจากภาพประกอบจะสวยงาม เต็มไปด้วยรายละเอียดแล้ว ถ้อยคำในเล่มภาษาอังกฤษก็สวยงาม เป็นบทกวีแบบที่ตาลเชื่อว่าจะสัมผัสใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้แน่ๆ พอเป็นกวีแบบนี้แล้ว ทำให้เราไม่ได้นึกถึงแค่สิ่งแวดล้อม แต่สะท้อนใจ คิดถึงเรื่องชีวิตและวันที่ต้องจากไปด้วย ว่าที่ผ่านมา เราได้เผลอละเลยอะไรไปบ้างหรือเปล่า เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่จะไม่เสียใจภายหลังหรือเปล่านะ เพราะชีวิตคนเรามันก็สั้นๆ แค่นี้เอง สนพ. Mountain Mind ยังมีหนังสือน่ารักเกี่ยวกับธรรมชาติและอาหารอีกเล่มด้วยชื่อ "วันนี้ หนูกินอะไรดีนะ" ภาพสีน้ำสวยมากกกกกกก และเนื้อหาก็อบอุ่นอ่อนโยน เล่มนี้เลยค่ะ


สุดท้ายนี้ ใครที่มีหนังสือ สารคดี หรือภาพยนตร์อะไรเกี่ยวกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ แนะนำกันเข้ามาได้ในคอมเมนต์นะคะ สำหรับตาลแล้ว แนะนำสารคดีของคุณ David Attenborough ทุกอันเลย หาดูได้ใน Netflix นะคะ ตาลเป็นแฟนคลับสารคดีธรรมชาติเลยล่ะ เพราะโตมากับ National Geographic และสัตว์หลายประเภท 555 . สารคดีของคุณ David ถูกเอามาแปลงเป็นหนังสือเด็กชื่อ Our Planet ด้วยนะ นอกจากนี้ก็ชีวประวัติของเขาก็ถูกนำมาเล่าในหนังสือเด็กชุด Little People, Big Dream ด้วยล่ะ



 


*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่

ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page