top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

[FFBF2021] หนังสือแคนาดา กระจกโมเสกแห่งวัฒนธรรม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


แคนาดาเป็นประเทศที่ภาคภูมิใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนมาก ๆ

ถามมากแค่ไหน? ต้องไปดูหนังสือที่เขาใช้เปิดโลกกว้างให้เด็ก ๆ ของเขากันค่ะ


วันนี้เรามารีวิวหนังสือจากประเทศที่แสนจะห่างไกลจากไทยแลนด์

ทั้งที่ตั้ง วัฒนธรรม และภูมิอากาศ บ้านเกิดของเมเปิลไซรัป และจัสติน บีเบอร์...

ค่ะ ประเทศแคนาดา นั่นเอง

ปีที่ผ่านมา แคนาดาเป็น Guest of Honour ของงานต่อจาก Norway โดยมาในธีม Singular Plurality ที่เน้นนำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในแคนาดา โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์พื้นเมืองเช่น ชาวเผ่า Cree และชาว Inuit เป็นต้น การได้รับเกียรติเป็น Guest of Honour ของงาน FFBF

หมายถึงว่า ประเทศหรือกลุ่มวัฒนธรรมนั้น ๆ (เช่น กลุ่มวรรณกรรมอาหรับ กลุ่มวัฒนธรรมกาตาลัน) จะได้พื้นที่แสดงงาน 1 ห้องใหญ่ เพื่อจัดแสดงผลงานวรรณกรรมและสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ รวมถึงงานเสวนานักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ สำนักพิมพ์ ฯลฯ แถมยังมีพื้นที่ฮอลกว้าง ๆ โชว์หนังสือของแต่ละสำนักพิมพ์แบบปัง ๆ ด้วย


ในปี 2021 ขนาดมีโรคระบาด แคนาดายังกวาดพื้นที่ขายหนังสือไปครึ่งฮอล ปีก่อน ๆ อาจจะโชว์ปังเปรี้ยงกว่านี้ก็ได้ ใครเคยไปเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ

ส่วนงานที่จะจัดในปีนี้ (2022) Spain จะเป็นผู้รับช่วงต่อ ตามด้วย สโลเวเนีย (2023) และอิตาลี (2024) ค่ะ เรายังไม่รู้ว่าเค้ามีวิธีเลือก Guest of Honour แต่ละปีอย่างไร แต่จากที่ไปคุยกับบูธฟิลิปปินส์มา ตัวแทนกลุ่มสำนักพิมพ์ในฟิลิปปินส์บอกว่า พวกเขาตั้งเป้าจะเป็น Guest ปี 2025 ให้ได้ (ดูเค้ามุ่งมั่นกันมากเลย ขนาดโควิดระบาดก็ยังรวมเงินกันมาออกบูธขนาดกลางได้) ซึ่งถ้าได้รับเลือกจริง ๆ ฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศที่สองในอาเซียน ที่ได้เป็นแขกรับเชิญออกบูธพิเศษของ FFBF ค่ะ โดยประเทศแรกที่มาเป็นแขกของเทศกาลนี้ก็คือ อินโดนีเซีย ซึ่งมาเมื่อปี 2015 นั่นเอง


Singular Plurality และ Cultural mosaic

แคนาดามาเป็น Guest of Honor ในปีนี้ พร้อมกับสโลแกน "เอกภาพแห่งพหุวัฒนธรรม" (Singular Plurality) ซึ่งสะท้อนนโยบาย "โมเสกแห่งวัฒนธรรม" (Cultural mosaic) ของรัฐบาลแคนาดา ในการผลักดันประเทศเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมตลอดช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมานี้ค่ะ


เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่ประชากรต่อพื้นที่น้อย ต้องพึ่งพาผู้อพยพจำนวนมาก ประชาชนแคนาดาก็มาจากหลากหลายวัฒนธรรม เมื่อมาอยู่รวมกันแล้ว แทนที่จะต้องยอมสละวัฒนธรรมตัวเองเพื่อหลอมรวมเป็นหม้อเดียว (Melting pot) เหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนบ้านของแคนาดาตั้งเป้าหมายไว้ ชาวแคนาดาอยากให้เพื่อนผองประชาชนภูมิใจกับรากเหง้าของตัวเองมากกว่า


โดยเขาเชื่อค่ะว่า วัฒนธรรมที่หลากหลายก็เหมือนกับเศษแก้วที่เปล่งประกายสีสันต่างกัน แต่มาอยู่ร่วมกันอย่างงดงามได้เหมือนกับกระจกโมเสกนั่นเอง


แคนาดาเรียนรู้ที่จะเข้มแข็ง ไม่ใช่ 'แม้ว่า' พวกเราแตกต่างกัน แต่ 'เพราะว่า' พวกเราแตกต่างกัน และในวันข้างหน้า ความสามารถเช่นนี้แหละที่จะเป็นหัวใจของความสำเร็จ และเป็นสมบัติที่เราจะมอบให้แก่โลกใบนี้ได้ Justin Trudeau, นายกรัฐมนตรีแคนาดา


ภาพ Canadian mosaic โดย Tim Van Horn ช่างภาพที่ตามถ่ายรูปชาวแคนาดา 54,000 คนมาตลอด 8 ปี เพื่อทำงานศิลปะชิ้นนี้


สำหรับหนังสือเด็กที่น่าสนใจจากประเทศแคนาดานั้น... เราเลือกมา 5 เรื่องที่เข้าใจง่าย สนุก และสะท้อนธีม Singular Plurality ที่แคนาดาต้องการจะสื่อออกมาได้ดี เพราะทำให้คนอ่านได้สัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้มองผู้คนที่แตกต่างอย่างสนใจใคร่รู้ และเคารพให้เกียรติกัน นอกจากนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อย/วัฒนธรรมกระแสรองได้แสดงตัวตน และรู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์และมรดกวัฒนธรรมของตนเองด้วย


ได้แก่

1. The Orphan and the Qallipilluit

2. The Walrus and the Caribou

3. The Legend of the Fog

4. How I Survived Four Nights on The Ice

5. Nipêhon / ᓂᐯᐦᐅᐣ / I Wait


หนังสือที่เราจะแนะนำในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ


ในลิสต์ข้างบนนี้มีทั้งหนังสือภาพ และคอมิก บางเล่มเล่านิทานพื้นบ้าน บางเล่มเล่าเหตุการณ์จริง บ้างเล่าเรื่องตำนานความเชื่อ บ้างก็เล่าถึงวิถีชีวิตประจำวัน แต่ว่าทุกเล่มล้วนแฝงความคิดที่น่าสนใจ มากไปกว่าแค่แนะนำวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยให้เด็ก ๆ รู้จักค่ะ


เรื่องของ Qallipilluit ปีศาจพืดน้ำแข็งในความเชื่อของชาวอินูอิต

ถูกนำมาเล่าในหนังสือภาพเรื่อง The Orphan and the Qallipilluit



การอ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตัวเอง คือพื้นฐานของพลเมืองโลกยุคใหม่ นักวิชาการด้านหนังสือเด็กหลายท่าน เช่น Bishop (1990) และ Zygmunt et al. (2015) ชี้ว่า การได้เห็น ได้อ่าน และได้รู้สึกภูมิใจในภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นของตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก ๆ เพราะเป็นรากฐานของความความมั่นใจในตัวเอง ขณะเดียวกัน การได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น ๆ ก็ยังช่วยเสริมสร้างความใส่ใจใคร่รู้ และเคารพในความแตกต่างของกันและกันด้วย การที่เด็ก ๆ อ่านหนังสือที่บ้าน/ในห้องเรียน แล้วได้เห็นตัวละครที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมของพวกเขา หรือมีชีวิตความเป็นอยู่คล้าย ๆ กับเขา ไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างความมั่นใจและความรู้สึกได้รับการยอมรับ แต่ยังทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเอง "มีคุณค่า" และ "เกี่ยวข้อง" กับหนังสือ กับโลกวรรณกรรม กับกิจกรรมการอ่านเขียน และกับการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยตรง ทำให้มีแรงจูงใจที่จะเชื่อมโยงความรู้เข้ากับชีวิตของตนมากขึ้น ซึ่งเป็นทัศนคติที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการศึกษาต่อไปค่ะ



กลวิธีเอาชีวิตรอดจากการหลงทางกลางพืดน้ำแข็ง

ในหนังสือคอมิกเรื่อง How I Survived Four Nights on The Ice

สำหรับในไทย เรามักจะได้อ่านเรื่องเล่าท้องถิ่นจากหนังสือรวมเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านภาคต่าง ๆ จำได้ว่าสนพ. ห้องเรียนเคยทำหนังสือประกอบภาพนิทานพื้นบ้านออกมาด้วย สวยมาก แต่เราก็ยังไม่ค่อยเห็นหนังสือเด็กที่ใช้ภาษาถิ่นทั้งเล่ม หรือภาษาถิ่นคู่กับภาษาราชการเลยนะ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าสนพ. คงกลัวขายไม่ออก เพราะคนอ่านภาษาถิ่นได้มีไม่เยอะเท่าภาษากลาง แต่ว่า ถ้าใครทำออกมาจริงก็น่าจะเปิดโอกาสให้เด็กภูมิภาคอื่น ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วยนะเนี่ย เพื่อน ๆ ว่าไหมล่ะคะ?

สุดท้ายนี้ หากเพื่อน ๆ คนไหนเคยอ่านหนังสือเด็กเกี่ยวกับชนชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมกระแสรองต่าง ๆ ในสังคมไทยแล้วชอบ ก็มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ 😊


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่




Rudine Sims Bishop, The Ohio State University. "Mirrors, Windows, and Sliding Glass Doors" originally appeared in Perspectives: Choosing and Using Books for the Classroom. Vo. 6, no. 3. Summer 1990.

Eva Zygmunt, Patricia Clark, Susan Tancock, Wilfridah Mucherah & Jon Clausen (2015) Books Like Me: Engaging the Community in the Intentional Selection of Culturally Relevant Children's Literature, Childhood Education, 91:1, 24-34, DOI: 10.1080/00094056.2015.1001661



ตามอ่านข้อมูลความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือสเปน Guest of Honour ได้ที่ https://publishingperspectives.com/.../buchmesses-next.../

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page