top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

ไม่ Body Shaming "อย่างนี้สิน่ารัก"

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

อวสานพวกชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน...

หนังสือภาพเล่มนี้ เล่าเรื่องคุณแม่มด

ที่ถูกบอดี้เชมโดยสัตว์ป่าน่ารักระหว่างออกไปเดตกับคุณโทรล

ตอนแรกแม่มดก็ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองตามคอมเมนต์อยู่หรอก

แต่สุดท้ายความสวยก็ไม่ใช่ทุกอย่าง...




ยังคงอยู่กับหนังสือจากสเปนเช่นเคยค่ะ

แต่เล่มนี้เราเจอครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Hübsch! ที่บูธสำนักพิมพ์ Jungbrunnen ในงาน Frankfurt Book Fair แต่มารู้ทีหลังว่าเป็นหนังสือแปลจากสเปน ซึ่งแปลมาแล้วมากกว่า 7 ภาษา เช่น อังกฤษ อิตาเลียน โปลิช กรีก ฯลฯ ทั้งยังเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับรางวัล Premio Fundación Cuatrogatos 2018 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับหนังสือเด็กคุณภาพภาษาสเปน จากกลุ่มประเทศที่พูดภาษาสเปน/โปรตุเกสในทวีปอเมริกา (Ibero-American) และประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วย


Guapa (อย่างนี้สิน่ารัก)

เขียนและวาดโดย คุณ Canizales

ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Apila Ediciones ประเทศสเปน ปี 2016

เข้าไปชมเว็บไซต์ของคุณนักเขียน/วาด ได้ที่ https://www.canizales.eu


แม่มดสมัยใหม่ต้องรู้จักซูม รู้จักเดตออนไลน์


หนังสือเล่าเรื่องของคุณแม่มด ที่วันหนึ่งได้รับข้อความจากคุณโทรล ชวนไปปิกนิกจี๋จ๋ากันในสวน

คุณแม่มดเลือกชุดที่ดีที่สุด แล้วเดินออกจากบ้านไปอย่างมั่นใจ แต่ไม่ทันไร เธอก็ถูกบรรดาสัตว์เพื่อนบ้าน (จอมฉอด) ทัก


สารคดีสัตว์โลกขี้ฉอด...



🧙‍♀️ "สวัสดีจ้ะ คุณกระรอก! เชื่อมั้ย วันนี้ชั้นมีนัดปิกนิกกับคุณโทรลด้วยนะ"

🐿️ "ว่าไงนะจ๊ะ?" กระรอกตอบ

🧙‍♀️ "ไปเจอเขาทั้งที่หลังยังโกงแบบนี้ไม่ได้นะ เสกคาถาให้มันตรงๆ หน่อยสิจ๊ะ จะได้สวย ๆ"


🧙‍♀️ "สวัสดีจ้ะ คุณกระต่าย วันนี้ฉันมีนัดปิกนิกกับคุณโทรลด้วยล่ะ" แม่มดทักทายคุณกระต่าย

🐇 "เอ... เธอว่าไปทั้งแบบนี้มันดีแล้วเหรอจ๊ะ ได้ดูจมูกเธอบ้างหรือเปล่าช่วงนี้ มันเป็นตะปุ่มตะป่ำไปหมดเลยนะ ใช้ไม้กายสิทธิ์เสกให้มันดูดีกว่านี้หน่อยสิจ๊ะ" คุณกระต่ายเสนอ


ฯลฯ


จนในที่สุดคุณแม่มดก็มาถึงที่หมาย

ปรากฏคุณโทรลจำเธอไม่ได้ เพราะคุณแม่มดที่เขารู้จัก ไม่ใช่แม่มดหลังตรง จมูกคางตะมุตะมิ อย่างที่เห็นตรงหน้า


ปิกนิกในสวนคราวนี้ก็เลยล่มไม่เป็นท่า ทำเอาทั้งคุณแม่มดและคุณโทรลนอยด์เป็นอย่างมาก


เดตที่ล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม...


ด้วยความที่คุณแม่มดเป็นสาวสมัยใหม่ เธอจึงเป็นฝ่ายชวนคุณโทรลมาปิกนิกอีกทีเป็นการแก้ตัว

และเพื่อให้ทั้งคู่มีปิกนิกราบรื่น พร้อมสรรพด้วยอาหารอันโอชา...

ทายสิว่า ใครจะได้มาอยู่ในเมนูของเธอบ้าง?



แม่มดยุคใหม่ มูฟออนเรื่องหน้าตาไปนานแล้ว

เราชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะมีเนื้อหาสดใหม่ (อย่างน้อยก็ในปี 2016 ที่หนังสือตีพิมพ์ออกมา) แม้เดี๋ยวนี้จะมีกระแสเล่าเรื่อง anti-hero (ตัวเอกวายร้าย) ในสื่อออกมาสักระยะแล้ว แต่การเอาเทพนิยายมาเล่าใหม่ให้ทันยุคสมัย โดยเสนอเรื่องของแม่มดที่สู้กับการโดนวิจารณ์หน้าตา และใช้คาถาเพื่อ "ศัลยกรรม" เรือนร่างตัวเองแบบเร่งด่วนเพื่อเอาใจหนุ่ม (โทรล) นี่ไม่เคยเห็นมาก่อน


ประกอบกับการแอบหักมุมเบา ๆ ตอนจบ เพื่อสอนคนอ่านว่า ... "การยุ่งเรื่องหน้าตาคนอื่นไม่ใช่ความคิดที่ดี"

(มันช่างสาแก่ใจอีช้อยจริง ๆ ค่ะ)



ลีลาการหลอกด่าที่แยบคาย

บทสนทนาระหว่างตัวละครแม่มดและสัตว์โลกน่ารัก (?) ในเรื่อง Guapa ก็น่าสนใจมากค่ะ


1️⃣ อย่างแรกคือ ตัวละครทุกตัวใช้คำพูดสุภาพต่อกัน และสัตว์ต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะหวังดีกับแม่มด จะสังเกตได้ว่า ไม่มีใครว่าแม่มดว่า น่าเกลียด อัปลักษณ์ตรง ๆ เลย


ไม่มีการสนับสนุนให้เด็กจำว่า หลังโกง ผิวไม่เรียบ คางไม่สวย = น่าเกลียด

ตรงกันข้าม สัตว์ทั้งหลายบอกแม่มดแบบ "สุภาพ" และ "ถนอมน้ำใจ"

ว่า เธอควรมีหน้าตาแบบไหนแทน (ถ้าหลังตรงจะดูดีนะ ถ้าจมูกไม่ตะปุ่มตะป่ำจะดูน่ารัก ถ้าคางไม่ยื่นจะงามทีเดียว ฯลฯ)

ซึ่งเป็นวิธีที่แยบยลในการวิจารณ์หน้าตาคนอื่น และสะท้อนให้เห็นกลวิธี "หวังดีแต่ไม่หวังดี" ที่สื่อโฆษณาและคนจริง ๆ ในสังคมใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ทำให้เด็กได้หัดอ่านข้อความระหว่างบรรทัด และรู้ทันค่านิยมความงามที่ซ่อนอยู่รอบ ๆ ตัว


2️⃣ อย่างที่สองคือ คุณแม่มดไม่ได้มีท่าทีสูญเสียความมั่นใจเลยเวลาถูกทักว่าสวยน่ารักไม่พอ เธอเพียงแต่คล้อยตามและทำตามที่สัตว์ต่าง ๆ บอกให้ทำ เพียงเพราะเธอไม่เคยออกเดตมาก่อน ก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่กำลังค่อย ๆ เก็บเกี่ยวและเลือกรับค่านิยมความงามต่าง ๆ จากสังคมเข้ามาใช้ พวกเขายังไม่ได้มีความคิดที่ตายตัวว่า อะไรคือสวย อะไรคือไม่สวย และผู้เขียนก็ใช้คำอย่างระมัดระวังมาก เพื่อจะไม่ทำให้เด็กเข้าใจไปว่า "คนเราต้องเก็บคำวิจารณ์เรื่องหน้าตาไปคิดมากและถือเป็นอารมณ์"

แม่มดแค่หงุดหงิดที่เธอเชื่อสัตว์พวกนั้น แล้วทำให้ปิกนิกล่มเท่านั้นเอง ไม่ได้นอยด์เรื่องตัวเองสวยไม่พอ


3️⃣ นอกจากนี้ การที่คนเขียน เขียนให้แม่มดตอบสัตว์ต่าง ๆ ว่า "อืม ก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่นะ" แล้วเสกคาถาแก้ไขเรือนร่างตัวเอง ยังเป็นประโยคที่เราชวนเด็กตั้งคำถามชวนคิดต่อได้อีกมากมาย

เช่น

- มันจริงหรือเปล่า ที่การเปลี่ยนรูปร่างตัวเองนั้นทำได้ง่าย ๆ แล้วถ้ามันง่าย และเราทำได้ เราควรเปลี่ยนตัวเองหรือเปล่า?

- การเปลี่ยนรูปลักษณ์แบบใดบ้างเป็นเรื่องที่ดี คุ้มค่า และ "ไม่เสียหายอะไร"?

ฯลฯ


4️⃣ ที่เราถูกใจมาก คือพอคุณโทรลเจอคุณแม่มดแล้ว ก็ไม่ได้วิจารณ์ว่า แม่มดที่หลังตรง ผิวเรียบ จมูกคางเล็ก "น่าเกลียด" เพียงแต่บอกว่า เขาไม่เชื่อว่าแม่มด "แสนสวย" ตรงหน้าเป็นคนเดียวกับที่เขารู้จัก

ถือได้ว่าคนเขียนเลือกใช้คำได้ดีและระมัดระวังที่จะไม่เผลอสนับสนุนการเหยียดหน้าตารูปร่างผู้หญิงแบบใดเลย


ใครที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ มีคนอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษแล้วนะคะ ชื่อเรื่อง "Pretty" ตามไปดูได้ที่นี่ค่ะ

(คนอ่าน พากย์เสียงสัตว์โลกได้น่าหมั่นไส้มาก... 555)


ส่วนใครอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัล

Premio Fundación Cuatrogatos ตามไปดูได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.cuatrogatos.org/premio.php


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่

ดู 26 ครั้ง1 ความคิดเห็น

1件のコメント


ゲスト
2022年7月09日

ประทับใจความคิดละเอียดลออของคนเขียน รีวิวก็อ่านสนุกมากๆเลย💖

いいね!
bottom of page