top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

เด็กตาย ผู้ใหญ่ตาย ใคร ๆ ก็ตาย... ชวนคุยเรื่องความตาย เด็กจะรู้เรื่องมั้ยเนี่ย?

อัปเดตเมื่อ 8 ต.ค. 2565

เด็ก ๆ เข้าใจ "ความตาย" ว่าอย่างไร?

จำเป็นต้องเล่าเรื่องความตายให้เด็กรู้มั้ย? แล้วจะเล่าอย่างไรดี?

บทความนี้มีคำตอบ...




สวัสดีค่ะวันนี้เรามีหนังสือเด็กแนวมืดมนมารีวิวถึงสองเล่มด้วยกัน

(แหม่ ช่างน่าสนุกจริง ๆ) เรื่องแรก Glassklokken (The Glass Dome- ในโดมแก้ว)

เป็นหนังสือจากประเทศนอร์เวย์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 เขียนโดยคุณ Bjørn Altrid Ersland วาดโดยคุณ Lilian Brøgger ในภาพเป็นหนังสือฉบับภาษาเดนิช แปลโดยคุณ Susanne Vebel ตีพิมพ์โดยสนพ. Alma ในปีเดียวกัน ชื่อเรื่อง Glaskuplen ส่วนเรื่องที่สองชื่อ Pigen på tårnhavet (The Girl in the Sea of Tear— เด็กหญิงในทะเลน้ำตา) เป็นหนังสือจากประเทศเดนมาร์ก เขียนและวาดโดยคุณ Pernille Brun Andersen ตีพิมพ์โดยสนพ. Eksistensen ปี 2017

หนังสือทั้งสองเล่มนี้พูดถึงหัวข้อเดียวกันคือ "ความตาย"

Glassklokken เล่าถึงหญิงชราลึกลับผู้เก็บสัตว์ที่ถูกรถชนตามถนนใกล้บ้านมาสตัฟฟ์เป็นงานอดิเรก หญิงชราดูแลร่างของสัตว์ทุกตัวด้วยความใส่ใจ ทำให้ร่างของสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านั้นดูราวกับว่าจะมีชีวิตอยู่ตราบนานเท่านาน อยู่มาวันหนึ่ง แทนที่จะพบกับสัตว์ตัวใหม่ หญิงชรากลับพบเด็กหญิงนิรนาม นอนจมกองเลือดอยู่... แม้แต่เด็กก็ไม่อาจหนีพ้นความตาย แต่แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นล่ะ? (ติดตามอ่านได้ที่ภาพด้านล่างนะคะ)


แม้ว่าเรื่องนี้ สำหรับตาลส่วนตัวว่าภาพออกจะน่ากลัวสักหน่อย เห็นเลือดนอง ๆ แต่พอย้อนคิดดู บางทีเราในฐานะผู้ใหญ่อาจจะกลัวแทนเด็ก ปกป้องเด็กจากความจริงมากเกินไปก็ได้ ก็น่าสงสัยว่า ถ้าเราเกิดมาเห็นว่าการบาดเจ็บ การตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่น่าหวาดผวา เราจะรับมือกับมันได้อย่างใจเย็น และทำใจได้ง่ายขึ้นบ้างไหมนะ?


เรื่องนี้มีความน่าสนใจอีกอย่างด้วยที่ ไม่เพียงแค่นำเสนอภาพความตายของเด็ก (แค่นี้ก็หายากมากแล้วในหนังสือภาพ) แต่ยังเป็นการตายด้วยอุบัติเหตุ เป็นโศกนาฏกรรมอีกต่างหาก แต่สุดท้ายแล้วร่างของเด็กหญิงและสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้รับการดูแลอย่างทะนุถนอมเหมือนว่าพวกเขาไม่เคยจากไปเลย ความแฟนตาซีของเรื่องนี้เปิดให้ผู้อ่านตีความได้หลายแง่มุม ทำไมหญิงชราจึงต้องเก็บเอาซากสัตว์ที่ตายไปเก็บรักษาด้วย? หรือจริง ๆ แล้ว เธอเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า ที่มาพาเด็กน้อยไปสู่สรวงสวรรค์? แล้วพ่อของเด็กหญิงเล่า เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเด็กหญิงจากไป? เกิดอะไรขึ้นกับรถที่ขับชนเธอแล้วทิ้งเธอเอาไว้ข้างทาง?


อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หนังสือมีความเป็นปริศนา ต้องขบคิดหลายทาง ตาลคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะอ่านสนุก ชวนคิดสำหรับเด็กสัก 7 ขวบขึ้นไปนะคะ

คำแปล: มีทั้งนกและสัตว์ที่โดนรถทับ

บางทีก็ดูออกยากว่ามันเคยเป็นอะไรมาก่อน

หญิงชราจะค่อย ๆ แซะร่างของพวกมันออกมา

แล้วก็วางมันลงในถุงบาง ๆ

หญิงชราจากไปโดยไม่ทิ้งอะไรไว้เลย



คำแปล: ทุกเช้า หญิงชราจะหายไปจากถนน

เธอไม่เคยหลับ

ตอนกลางคืนเธอรวบรวมสัตว์ที่ตาย

และตอนกลางวันเธอก็จะทำงานง่วนอยู่ในห้องทำงานของเธอ



คำแปล: เด็กหญิงคนนั้นตายเสียแล้ว ตอนที่หญิงชราพบเธอ

หญิงชราร้องไห้ให้เธอเงียบ ๆ

จากนั้นเธอก็โน้มตัวลง แล้วเกลี่ยผมของเด็กหญิงเบา ๆ

"เธอช่างสวยน่ารัก กว่าใครที่ฉันเคยพบมาเลย" หญิงชราพูดเบา ๆ

"แต่เธออยู่ตรงนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ"

แล้วหญิงชราก็ค่อย ๆ ดึงถุงออกมาคลุมเด็กหญิงคนนั้น

และเดินลากถุงหนัก ๆ กลับบ้านไปในความมืด




หน้าสุดท้ายของหนังสือ แสดงให้เห็นว่า

ร่างของเด็กหญิงและสัตว์ต่าง ๆ ได้รับการเก็บรักษาไว้ในโดมแก้วของหญิงชรา



 

ส่วนหนังสือเรื่อง Pigen på tårnhavet นั้นต่างจากเรื่องแรกตรงที่มีเด็กผู้หญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งเป็นคนเดินเรื่องค่ะ เรื่องนี้แทบจะไม่มีคำบรรยายอะไรเลย มีแค่คำพูดของเด็กน้อยเท่านั้น ระดับภาษาและลำดับภาพเรียบง่ายขนาดนี้ เด็กสัก 5-6 ขวบขึ้นไปน่าจะอ่านเข้าใจได้ค่ะ


"หนูไม่กินอะไรทั้งนั้นแหละ หนูอยากได้พ่อหนูคืน!" เด็กหญิงตะโกนใส่แม่ของเธอในคืนหนึ่ง



หลังจากที่ทะเลาะกับคุณแม่ เธอก็ออกเดินทางข้ามทะเล

ไปพบกับ "เจ้าก้อนความเศร้า" ตัวใหญ่มหึมา



ไม่ว่าเธอจะไปที่ไหน เจ้าก้อนความเศร้าก็ตามติดเธอไปด้วยทุกหนแห่ง

เช่นเดียวกับ "ใครบางคน" ที่คอยมองลงมาที่เธออย่างเป็นห่วง...

ใครคนนั้นก็คือ คุณพ่อของเธอ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปนั่นเอง



เด็กหญิงพยายามหนี และตะโกนไล่เจ้าก้อนความเศร้าจอมตอแย

แต่สุดท้าย เมื่อเห็นว่าหนีไม่ได้อีกต่อไป เธอก็ตัดสินใจโอบกอดมันอย่างอ่อนโยน

และกล้าที่จะระบายความในใจออกมา...

การได้พิจารณาความรู้สึกของตัวเองชัด ๆ และเล่าให้ใครสักคนที่ไว้ใจฟัง ช่วยเยียวยาจิตใจที่เศร้าโศกได้ แม้จะเล็กน้อย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีพลังใจอีกครั้ง


(คำแปล: "คุณความเศร้า... หนูมีเรื่องจะบอกละ"

"หนูคิดถึงพ่อค่ะ"

"พ่อหนูตายแล้ว")



 


ทำไมเราถึงต้องมีหนังสือเด็กที่พูดถึงเรื่องมืดมนแบบนี้ด้วย?

ผู้ใหญ่มักมีความเชื่อว่า ความตายเป็นเรื่องไกลตัวเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กเล็ก ๆ ไม่เข้าใจ และไม่ควรพูดถึง เพราะจะทำให้เด็กกังวลโดยใช่เหตุ แต่ว่า ความตายเป็นเรื่องไกลตัวเด็กจริงหรือ? เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็มีสิทธิตายได้ทั้งนั้น



เด็ก ๆ เข้าใจความตายว่าอย่างไรกันบ้าง

งานวิจัยในอเมริกาเรื่องการรับรู้เรื่อง "ความตาย" ของเด็ก ๆ และ หนังสือภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับความตาย (Osvath, 2021) ชี้ให้เห็นว่า เด็กตั้งแต่ 3 ขวบ สามารถเข้าใจแล้วว่า ความตายเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนโศกเศร้า และก่อนจะอายุถึง 5 ขวบ เด็กเล็ก ๆ บางคน เริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกาย เมื่อรับรู้ว่า คนหรือสัตว์เลี้ยงในครอบครัวตาย หรือ "ไม่อยู่อีกต่อไป" เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดหัว ไม่สบายตัว

ขณะที่เด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไปซึ่งมีพัฒนาการทางสติปัญญาและการตอบสนองทางอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น เริ่มเข้าใจว่า "ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกพ้น และไม่หวนคืนมาได้" ในวัยนี้ เด็กอาจแสดงอาการกลัวหรือวิตกกังวลต่อความตาย และพาลกลัวสัญลักษณ์อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความตาย เช่น หัวกระโหลก เงาดำ ๆ หรือที่มืด ๆ หนังสือภาพเป็นสื่อหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่อย่าง พ่อแม่ ครู ได้เริ่มคุยเรื่องความตายกับเด็ก ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ และในกรณีที่บ้านไหนเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ความสูญเสียไป หนังสือภาพก็สามารถช่วยคลี่คลายความเศร้าและความกังวลของเด็ก ๆ ลงได้ ด้วยการชวนให้เด็กเปิดใจคุยปรับทุกข์กับผู้ใหญ่ จะได้ไม่รู้สึกว่าต้องรับมือกับความรู้สึกหนักอึ้งตามลำพัง งานวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวกับความเข้าใจและการรับมือของเด็ก เกี่ยวกับเรื่องความตาย (Gutiérrez et. al., 2014) ยังพบด้วยว่า เด็ก ๆ หลายบ้านถามพ่อแม่หลายอย่างเกี่ยวกับความตาย เช่น ทำไมคนเราถึงตาย เราไม่ตายได้ไหม ตายแล้วไปไหน พ่อแม่หรือตัวเด็กเองใครจะตายก่อนกัน ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้น สื่อ หนังสือ และการพูดคุยกับเด็ก ๆ เรื่องความตายก็ยังมีไม่มากพอ...


หนังสือเด็กที่พูดถึงเรื่องความตาย (ของเด็กเอง) เรื่องหนึ่งที่ตาลชอบมาก คือเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ค่ะ เรื่องนี้ผู้เขียนเล่าถึงความตายว่า เป็นการจากไปเพียงกายเนื้อ แต่ผู้คนที่รักเขาจะยังคงรู้สึกถึงเขาได้ในความทรงจำ และในที่ต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยใช้เวลาร่วมกัน



ในขณะที่เด็ก ๆ รับรู้เรื่องความตายตั้งแต่เล็ก ๆ ผ่านการตายของคนใกล้ตัว สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งตัวละครในภาพยนตร์ และข่าวคราวตามสื่อต่าง ๆ Gutiérrez และทีมนักวิจัย (2014) กลับพบว่า ในตลาดหนังสืออเมริกันจนถึงปี 2014 มีหนังสือเด็กที่อธิบายให้เด็กเข้าใจและเตรียมเด็กให้พร้อมรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกเมื่อต้องเผชิญกับความตาย อยู่น้อยแบบไม่น่าเชื่อ โดยในบรรดาหนังสือรางวัล Caldecott (รางวัลหนังสือภาพระดับชาติ ที่จัดขึ้นทุกปีในอเมริกา) และหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟังบ่อย ๆ จำนวนรวมกัน 198 เล่ม มีเรื่องที่เกี่ยวกับความตายเพียงแค่ 6 เล่ม และบางเล่มก็ไม่ได้พูดถึงความตายเป็นประเด็นหลักของเรื่องด้วยซ้ำ


เด็กนำกลวิธีรับมือกับความตายที่เรียนรู้มาไปใช้จริง ๆ

ระหว่างการทำวิจัย Gutiérrez และทีมพบว่า เมื่อถูกถามเรื่องความตาย พ่อแม่อเมริกันมักตอบเด็ก ๆ ด้วยคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ เช่น "การตายคือหัวใจหยุดเต้น" "ตายคือจะไม่ตื่นขึ้นมาอีกแล้ว" ประกอบกับปลอบใจเด็ก ๆ ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น "พ่อแม่จะยังไม่ตายจากหนูไปเร็ว ๆ นี้หรอก หนูเองก็ยังจะอยู่ได้อีกนานถ้าใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง" "ตัวละครนี้เขาไม่ได้ตายจริง ๆ นะ มันแค่เรื่องแต่งเอง" "ถึงเขาจะตายไปแล้ว แต่จะยังอยู่ในความทรงจำของเรา" หรือ ตอบด้วยคำอธิบายทางศาสนาและพิธีกรรมเพิ่มเติม เช่น "เขาไปดี/ไปสวรรค์แล้วล่ะ" "บางคนก็เชื่อว่า ตายแล้วจะได้ไปเกิดใหม่ทันทีเลยนะ"


ซึ่งเมื่อทำการวิจัยต่อเนื่องไปอีกก็พบว่า เด็ก ๆ วัย 3-6 ขวบก็มีวิธีพูดปลอบใจเด็กด้วยกัน ในแนวเดียวกับที่ผู้ใหญ่ใช้ปลอบใจพวกเขานั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ จำวิธีการรับมือกับความตายที่ผู้ใหญ่สอนไปใช้จริง ๆ กับคนอื่น ๆ ที่กำลังเศร้าเสียใจกับความตาย และมีแนวโน้มว่าจะใช้กับตัวเองเช่นกัน

การเริ่มต้นสื่อสารเรื่องความตายและวิธีรับมือกับความตายกับเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก ๆ ด้วย



เรื่องมัตเตียกับปู่ (Mattia e il nonno) เป็นหนังสือเด็กเล่มโปรดอีกเล่ม (ของตาลและน้องสาว) ที่พูดถึงความตายของคุณปู่ ในเรื่อง คุณปู่ที่กำลังนอนใกล้ตายอยู่บนเตียง จู่ ๆ ก็กระโดดลุกขึ้นมาแล้วพามัตเตียไปเที่ยว ตลอดวันนั้น คุณปู่ตัวหดเล็กลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายเล็กเท่าผงพริกไทย แล้วมัตเตียก็เผลอสูดปู่เข้าไปในตัว...

แล้วเพื่อน ๆ ละคะ ตอนเด็ก ๆ เคยกังวลเรื่องความตายหรือเปล่า แล้วมีวิธีรับมือกับความตายและความสูญเสียอย่างไร หรือเคยต้องอธิบายเรื่องนี้ให้เด็ก ๆ ฟังบ้างมั้ย เขียนมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


อ้างอิง Gutiérrez, I.T., Miller, P.J., Rosengren, K.S. & Schein, S.S. 2014, "III. AFFECTIVE DIMENSIONS OF DEATH: CHILDREN'S BOOKS, QUESTIONS, AND UNDERSTANDINGS", Monographs of the Society for Research in Child Development, vol. 79, no. 1, pp. 43-61. Osvath, C. 2021, "Uncovering Death: A Dialogic, Aesthetic Engagement with the Covers of Death-Themed Picture Books", Children's literature in education, vol. 52, no. 1, pp. 68-87.




ดู 27 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page