top of page
bsereechaiporn

เด็กยุโรปอ่านหนังสืออะไร: บันทึกป.โทของนักศึกษาวรรณกรรมเด็ก CLMC รุ่นที่ 1




การเดินทางที่ยาวไกลและนานที่สุดของฉัน เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่ฉันบินจากไทยมายุโรป เพื่อเรียนต่อ ป.โท สาขา วรรณกรรม สื่อ และวัฒนธรรมเด็ก (Children’s Literature, Media, and Culture-CLMC)


CLMC เป็นคอร์ส ป.โท 2 ปี ในโครงการ Erasmus Mundus ของสหภาพยุโรป (EU) มีมหาวิทยาลัยร่วมกันสอน 6 แห่ง คือ Tilburg University (เนเธอร์แลนด์), Universidad Autónoma de Barcelona (สเปน), University of Wrocław (โปแลนด์), Aarhus University (เดนมาร์ก), University British Columbia (แคนาดา) และมี University of Glasgow ที่สกอตแลนด์เป็นแม่งาน นั่นหมายความว่า เราเริ่มเรียนเทอมแรกและกลับไปรับปริญญาที่นั่น ส่วนระหว่างนั้นนักเรียนก็เดินทางย้ายไปประเทศต่าง ๆ เทอมสองไปเดนมาร์ก ปิดเทอมใหญ่ไปแคนาดา (ซึ่งเราไม่ได้ไปกันเพราะล็อกดาวน์)

เทอมสามพวกเราต้องเลือกว่าจะไปเรียนต่อสาขาอะไรเป็นพิเศษไปพร้อม ๆ กับการฝึกงาน เราเลือกไปเรียนด้าน ‘การส่งเสริมการอ่าน’ (Promotion of Reading) ที่สเปน เพื่อนบางคนเลือกไปเรียนสาขา ‘การข้ามวัฒนธรรมของวรรณกรรม’ (Transcultural Trajectories) บ้างก็เลือกเรียนด้าน ‘ภาพยนตร์และการสร้างการมีส่วนร่วม’ (Film and Participatory Culture) และเทอมสุดท้าย พวกเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ใน 6 ประเทศนี้ เพื่อเขียนทีสิสกับอาจารย์ที่ปรึกษา


เพื่อน ๆ CLMC รุ่น 1 ฉลองคริสต์มาสแรกด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา



พวกเราเหล่านักเรียนแซวกันว่า การเดินทางไป ๆ มา ๆ ทุก 3 – 4 เดือนแบบนี้ ทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายประเทศไปแล้ว ไหนจะต้องกรอกเอกสารทำวีซ่า เจอตำรวจ แพ็กของ จองเวลาขนของ ซ่อมกระเป๋าลาก ฯลฯ ถ้าหางานด้านวรรณกรรมเด็กทำไม่ได้ ลองไปเปิดบริษัทช่วยคนย้ายประเทศดูก็แล้วกัน


ข้อเสียของการเดินทางเยอะ ๆ แบบนี้ คือพวกเราต้องรับมือกับความไม่แน่นอน ความเครียดจากการหาที่อยู่ แพ็กของ วางแผนเดินทางซ้ำแล้วซ้ำเล่า การปรับตัวเข้ากับผู้คนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป (จากสังคมคนนอนเร็วในเดนมาร์ก มาสู่สังคมไม่หลับไม่นอนในสเปน) และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการเรียนคอร์ส ป.โททั่ว ๆ ไป ส่วนหนึ่งเพราะค่าที่พักระยะสั้น (แพงกว่าอยู่ 1 ปีเต็ม) ไหนจะค่าเดินทางอีก เรียกได้ว่าถ้าเราไม่ได้ทุน ก็คงไม่มีโอกาสได้มาเรียนคอร์สนี้เลยตลอดชีวิต


กว่าจะถึงบาร์เซโลนา…



ส่วนข้อดีก็คือ พวกเราได้เห็นหนังสือ/สื่อเด็ก ห้องสมุด ร้านหนังสือ เทศกาลหนังสือมากมายหลายแบบ ซึ่งทลายความเชื่อเดิมหลาย ๆ อย่างโดยสิ้นเชิง เช่น อะไรคือสิ่งที่เด็กควรอ่าน ไม่ควรอ่าน เข้าใจ ไม่เข้าใจ จริง ๆ แล้ว ‘เด็ก’ คือสิ่งมีชีวิตแบบไหนกันแน่ แล้วเราในฐานะผู้ใหญ่ควรปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร

แม้ในวันที่เรียนจบมาแล้ว เราก็ยังคงตั้งคำถามนี้อยู่ในใจ ซึ่งเราว่าก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะ ‘วัยเด็ก’ ไม่ใช่อะไรที่คงที่ เด็กเมื่อวานนี้ วันนี้กับพรุ่งนี้แตกต่างกัน และเด็กคนหนึ่งก็ต่างจากเด็กอีกคนหนึ่ง หากเรามีความเชื่อบางอย่างฝังหัวว่าเด็กเป็นแบบนั้นแบบนี้ เท่ากับเราหยุดรับฟังและสังเกตเด็กจริง ๆ แล้วด่วนตัดสินพวกเขาจากมุมมองของตัวเองเพียงอย่างเดียว





ขยายขอบเขตความเข้าใจเรื่อง ‘วรรณกรรมเด็ก’ ให้กว้างขึ้น

ก่อนจะมาเรียนต่อ คำว่า ‘วรรณกรรมเด็ก’ ของเราจำกัดอยู่แค่หนังสือสำหรับเด็ก เช่น บอร์ดบุ๊ก นิทานภาพ หนังสือสารคดี/ความรู้สำหรับเด็ก หนังสือเรียน วรรณกรรมแปล อย่างหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ห้าสหายผจญภัย นิตยสารเด็ก เช่น เพื่อเพื่อนรัก เล่มโปรด ไปจนถึงนิยาย Young Adult ซึ่งเอาจริง ๆ แค่นี้ก็เยอะมากแล้ว


แต่คำว่า ‘วรรณกรรมเด็ก’ ในเชิงวิชาการที่เราเรียนมากว้างกว่านั้น มันรวมถึงงานเขียนทุกอย่างที่เด็ก (0 – 18 ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) เข้าถึง รับสาร และเรียนรู้บางอย่างจากมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราประทับใจมาก ๆ




มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก พวกเราอ่านอะไรกันบ้าง

สำหรับเรา ตอนเด็ก ๆ เราอ่านอะไรหลายอย่าง นอกจากหนังสือสำหรับเด็กที่เราว่ามาแล้ว เราก็อ่านการ์ตูน ขายหัวเราะ ซึ่งเต็มไปด้วยมุกแนวผัวเมีย ผู้หญิงนมใหญ่เอวคอด มังงะ นิตยสารแนวสารคดี เวลาไปร้านบะหมี่หน้าปากซอย เราก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ (ซึ่งมักเต็มไปด้วยข่าวอาชญากรรม) เวลาไปร้านทำผม เราอ่านนิตยสารแฟชั่น ขวัญเรือน นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ เราก็อ่านงานเขียนออนไลน์ด้วย เช่น แฟนฟิค แปลการ์ตูน แปลเพลง ในเว็บเด็กดี และ Exteen ที่เด็ก ๆ อย่างเราเขียน อ่าน และวิจารณ์กันเอง

แม้จะฟังดูไม่เหมือนสิ่งที่เขียนมาเพื่อเด็ก แต่ในแง่การทำวิจัยสาขาวรรณกรรมเด็กแล้ว ทั้งหมดนี้เข้าข่ายวรรณกรรมเด็กทั้งสิ้น เพราะมันเป็นงานเขียนที่เด็กอ่าน และงานบางชิ้นเด็กเป็นผู้ผลิตเองด้วยซ้ำ (ไม่ว่าจะตั้งใจให้เด็กด้วยกันอ่านหรือไม่)


งานเขียนที่ว่าก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิมเสมอไป แต่ครอบคลุมถึงสื่อสมัยใหม่จำนวนมาก เช่น อีบุ๊ก ออดิโอบุ๊ก โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน บทโทรทัศน์-ภาพยนตร์-วิดีโอเกม เพลง แม้แต่ข้อความทวิตเตอร์ ก็อยู่ในขอบข่ายของงานวิจัยด้าน ‘วรรณกรรมเด็ก’ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดารอให้เราหยิบมาอ่านและประยุกต์ใช้ อยากรู้ไหมว่าแฟนฟิคส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร มีคนทำวิจัยไว้แล้ว อยากรู้ไหมว่าหนังสือไร้คำมีประโยชน์ตรงไหน ก็หางานวิจัยอ่านได้เยอะแยะ


ด้วยคำจำกัดความอันกว้างไกล ในคอร์สนี้เราเลยไม่ได้ทำรายงานแค่เกี่ยวกับ ‘หนังสือเด็ก’ เท่านั้น แต่ได้วิเคราะห์ทั้งเกม การใช้เฟซบุ๊กเพจของเด็กไทย แฟนฟิค กิจกรรมส่งเสริมการอ่านแบบทั้งจังหวัด ฯลฯ แล้วจบที่การเขียนทีสิสเรื่องการเล่าประวัติศาสตร์ในรายการทีวีเด็ก Horrible Histories (ชื่อไทย : ประวัติศาสตร์โหด-มัน-ฮา) เพื่อต่อต้านอำนาจนิยม




วรรณกรรมหลากหลาย เพื่อสังคมที่เปิดกว้าง

อีกสิ่งที่เราชอบมาก ๆ คือ การที่เราได้เห็นวรรณกรรมเด็กที่หลากหลาย ได้เห็นว่าผู้ใหญ่ในแต่ละสังคมมองเด็ก ๆ อย่างไร แล้วผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งก็คือสังคมของเขานั้นเป็นอย่างไร


ก่อนที่เราจะเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน อ.ศิริพร ศรีวรกานต์ ผู้สอนวิชา Children’s Literature ให้เราที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้เราตระหนักว่า หนังสือเด็กเป็นมากกว่าแค่หนังสืออ่านสนุกหรือหนังสือเรียน แต่คือพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ


ถ้าเราอยากให้คนในประเทศเรา มีความคิดเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย และต่อสู้เพื่อความเสมอภาคสำหรับทุกคน เราต้องเริ่มให้ความรู้เรื่องนี้กับประชาชนตั้งแต่เล็ก ๆ ว่า คนในสังคมมีหลายเชื้อชาติ มีที่มา หน้าตา ความสามารถ ความชอบวิถีชีวิต ความคิดแตกต่างกัน ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กสุดของสังคมก็มีได้หลายแบบ ไม่ว่าจะครอบครัวผู้ปกครองคนเดียว ครอบครัวบุญธรรม ครอบครัวพ่อสองคน แม่สองคน ฯลฯ และทุกคนควรได้รับการคุ้มครองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข


ถ้าอยากให้ประเทศเรามีการเมืองที่ดี เป็นประชาธิปไตย ปราศจากสงคราม ความรุนแรง เราต้องสื่อสารกับเด็กว่า สภาพบ้านเมืองที่ดีเป็นแบบไหน ระบบการเมืองทำงานอย่างไร ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร สงครามเกิดขึ้นจากอะไรและมันแย่อย่างไร ถ้าอยากให้คนประเทศเรารักษาสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องทำให้เขาตระหนักได้ตั้งแต่เด็กว่า สิ่งแวดล้อมสำคัญกับเราแค่ไหน ชุมชนเราวางแผนที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร และเขาจะช่วยอะไรได้บ้าง


ความพิเศษของหนังสือเด็กคือ ไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้นที่อ่านและซึบซับข้อมูลในหนังสือ แต่ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังก็ได้รับข้อมูลไปด้วย เมื่อเด็กกับผู้ใหญ่ได้อ่านหนังสือด้วยกัน ก็มีโอกาสจะได้สนทนา รับฟังกันและกัน และสร้างสรรค์โลกที่สันติและยั่งยืนร่วมกัน



หนังสือบางส่วนในห้องสมุดชุมชนเล็กมาก ๆ ในสกอตแลนด์

เกี่ยวกับความแตกต่างในสังคม และครอบครัวที่หย่าร้าง



เด็ก ๆ ข้างนอกกำลังอ่านอะไร

ห้องสมุดชุมชนในประเทศที่เราไปมา ทุกแห่งมีโซนหนังสือเด็กขนาดใหญ่

ห้องสมุดเราชอบที่สุดในการเดินทางครั้งนี้คือ ห้องสมุด Dokk 1 ในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งให้พื้นที่กว้างทั้งชั้น 2 และ 3 เป็นพื้นที่คลาน วิ่งเล่น ปีนป่าย และวางหนังสือเด็ก แถมยังมีสนามเด็กเล่นรอบ ๆ ห้องสมุดอีกต่างหาก และเนื่องจากวงการหนังสือเด็กในเดนมาร์กค่อนข้างเล็ก ประกอบกับผู้ใหญ่ค่อนข้างใจเปิดกว้างกับแนวคิดและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราจึงได้เห็นหนังสือเด็กที่แปลมาจากทั่วยุโรป รวมอยู่ในห้องสมุดชุมชนที่นี่โดยไม่ต้องไปไหนไกล เช่น หนังสือภาพเรื่อง Glassklokken จากนอร์เวย์ ซึ่งพูดถึงเด็กหญิงที่ถูกรถชนตาย หนังสือภาพ Opa Rainer weiss nitch mehr จากเยอรมนี เล่าเรื่องหลาน ๆ ที่อยู่กับคุณตาความจำเสื่อม และหนังสือสารคดี Lilla Snippaboken กับ Lilla Snoppboken จากสวีเดน ที่อธิบายเรื่องอวัยวะเพศหญิงและชาย รวมไปถึงค่านิยมทางเพศในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างละเอียด



สนามเด็กเล่นรอบห้องสมุด Dokk1 ห้องสมุดสำหรับพลเมือง 0 ปีขึ้นไป


ลานจอดรถเข็นเด็กในห้องสมุด และจออินเตอร์แรกทีฟที่เด็กชอบมากระโดดเล่นกัน

เด็กประถมปลายจัดงานอ่านหนังสือมาราธอนและอยู่ค้างคืนห้องสมุดกันเอง

(มีบรรณารักษ์ช่วยสั่งพิซซ่าให้)



หนังสือเด็กเดนิชที่เรารักที่สุด และสะท้อนถึงแนวคิดการเลี้ยงดูเด็กของเขาอย่างชัดเจน คือเรื่อง Den lille røde bog for skoleelever (คู่มือนักเรียนขบถ) ที่เขียนโดยครูสองคนในช่วง 1970 คู่มือน้อยเล่มนี้สื่อสารกับเด็ก ๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า สภาพการศึกษาในขณะนั้นมีปัญหาอะไร ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กยังไง การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งยังให้ความรู้อื่น ๆ ที่โรงเรียนไม่สอน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การคุมโรคติดต่อและคุมกำเนิด การใช้สารเสพติดและผลลัพธ์ การประท้วงและเรียกร้องสิทธิ์ทางการศึกษาที่นักเรียนควรได้รับ



ห้องสมุดชุมชนในเดนมาร์กมีหนังสือหลายภาษา

ขึ้นอยู่กับว่าในชุมชนนั้นมีคนพูดภาษาอะไรบ้าง

เช่น ที่ละแวกบ้านเรามีคนไทยอยู่ เลยมีหนังสือไทย




สำหรับร้านหนังสือเด็กยอดเยี่ยม เราต้องขอยกให้ในสหราชอาณาจักร อาณาจักรแห่งวรรณกรรมเด็ก ซึ่งมีร้านหนังสืออิสระกระจายตัวอยู่ทั่วไป หลาย ๆ ร้าน โดยเฉพาะร้าน Chain Store ไฮเอนด์อย่าง Waterstones และ Foyles อุทิศพื้นที่กว้างขวางอย่างยิ่งให้เด็ก ๆ ตัวอย่างเช่น ร้าน Foyles ในลอนดอนให้พื้นที่วางหนังสือเด็กทั้งชั้นกราวนด์ และเปิดให้เด็กหรือผู้ใหญ่เข้ามาอ่านหนังสือได้ตามใจชอบ วงการหนังสือเด็กภาษาอังกฤษนั้นใหญ่โตและมีชีวิตชีวา เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล มีนักเขียนหนังสือเด็กภาษานี้อยู่มากมาย หัวข้อและรูปแบบหนังสือก็หลากหลายตามไปด้วย (แม้จะแทบไม่แปลหนังสือจากต่างประเทศเข้ามาเลยก็ตาม… ถ้าแปลมากกว่านี้จะดีมาก)

เทรนด์ที่มาแรงตอนนี้ ก็เช่นหนังสือที่มีตัวละครเอกเป็นชนกลุ่มน้อย (BAME) หนังสือที่ Empower (ปลุกพลัง) ให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ หนังสือเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย และหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม



ร้านหนังสือ Foyles ในลอนดอน ชั้นล่างเป็นของเด็ก ๆ



เทรนด์หนังสือเด็กในห้องสมุดและร้านหนังสือบางส่วนในสหราชอาณาจักร (จากซ้ายไปขวา บนมาล่าง) ขบวนการซัฟฟราเจตต์ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม, ปกป้องสัตว์โลก, มาต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติกันเถอะ, ข่าวด่วน : จะรู้ได้ยังไงว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนโกหกทั้งเพ,

พูดออกมา! ทุกคนต้องได้ยินเสียงของเรา ไม่มีใครหยุดยั้งเราได้



เนเธอร์แลนด์และสเปนเองก็เจ๋งไม่เบาในเรื่องการนำหนังสือเด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่ครอบครัวต่าง ๆ เช่น ร้านหนังสือในพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว ขายหนังสือเด็กเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะและประวัติศาสตร์ อย่างสมุดระบายสีธีมแวนโก๊ะ หนังสือภาพ/การ์ตูนเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมเด่น ๆ ในเมือง เนเธอร์แลนด์มีพิพิธภัณฑ์หนังสือเด็ก (Kinderboeken Museum) ที่เต็มไปด้วยวัตถุจัดแสดงอินเตอร์แรกทีฟสนุก ๆ ส่วนบาร์เซโลนาและเมืองต่าง ๆ ในแคว้นกาตาลัน ก็มีธรรมเนียมน่ารัก ๆ อย่างการมอบหนังสือและดอกไม้ให้กันวันแห่งความรัก (วัน St.Jordi) วันที่ 23 เมษายนของทุกปี




หนังสือเด็กในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรม

และประวัติศาสตร์ในบาร์เซโลนา


พิพิธภัณฑ์ Kinderboeken Museum ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

มีมุมถ่ายรูปและทำกิจกรรม Hands on มากมายในธีมหนังสือเด็กยอดนิยมของที่นั่น



ย้อนกลับมามองที่ไทยบ้าง

ตอนที่เราทำงานบรรณาธิการหนังสือเด็ก เราได้มีโอกาสเห็นหนังสือต่างประเทศจากแคตตาล็อกที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ส่งมาให้ จากหนังสือจำนวนมหาศาลนั้น สำนักพิมพ์ในไทยเลือกมาแปลได้เพียงส่วนน้อย ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน แรงงาน และเวลา หนังสือที่มั่นใจว่าขายออกจะได้รับเลือกก่อน ส่วนหนังสือที่แหวกขนบตลาดออกไปมักถูกเลือกทีหลัง หรือไม่ถูกเลือกเลย


เช่น หนังสือที่มีภาพประกอบที่อาจทำผู้ปกครองช็อก (รูปเปลือย คนตาย การสู้รบ) ภาพสีสันไม่สดใส อาร์ตจัด ๆ หนังสือประเภทไร้คำ (คนซื้อหนังสือมองว่าไม่คุ้ม) หรือพูดถึงหัวข้อที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องที่เด็กไม่สนใจอ่าน ยากไป ไกลตัวไป ไม่ตอบโจทย์เทรนด์การศึกษาในชาติ เช่น หนังสือเด็กเกี่ยวกับปรัชญา ความหลากหลายทางศาสนา ครอบครัวนอกขนบ LGBTQ+ การเมือง การวางผังเมือง ปัญหาผู้ลี้ภัย สงคราม ไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ อย่างแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

หัวข้อทั้งหมดนี้มีอยู่จริงในตลาดหนังสือเด็กต่างประเทศมาหลายปีแล้ว ทั้งในจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป อเมริกา (เหนือและใต้) และบางประเทศในตะวันออกกลาง แต่ยังไม่อาจผ่านด่านตลาดหนังสือไทยได้ด้วยสาเหตุบางประการ


หากหนังสือเด็กคือพื้นที่แห่งโอกาสใหม่ ๆ ในสังคม ก็น่าคิดว่าเด็ก ๆ ของเราเข้าถึงโอกาสนั้นมากแค่ไหน แล้วเราในฐานะผู้ใหญ่ ควรจะทำอย่างไรต่อไปกับ ‘วรรณกรรมเด็ก’ ในบ้านเรา


ตัวอย่างหนังสือเด็กนอกขนบไทย ซึ่งเด็กในประเทศอื่น ๆ กำลังอ่านอยู่

แถวบน: เมื่อไดโนเสาร์ตาย (หนังสือสารคดีเล่าเรื่องความตายและการสูญเสีย), ซีโนเบีย (หนังสือแทบไร้คำเกี่ยวกับเด็กหญิงผู้ลี้ภัยที่จมน้ำตายกลางทะเล),หนังสือภาพ นี่แหละที่เขาเรียกว่า เผด็จการ

แถวล่าง: หนังสือคอมิก ฟาสซิสม์คืออะไร, บางส่วนของหนังสือบอร์ดบุ๊กที่มีครอบครัวพ่อสองคน, หนังสือบอร์ดบุ๊ก หมวกแห่งศรัทธา

(เล่าให้เด็กเล็กสุดฟังว่าโลกเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายศาสนาความเชื่อ)




 

พิมพ์ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Cloud คอลัมน์ Home/Art & Culture/บทเรียนจากต่างแดน

1 view0 comments

Comentários


bottom of page